การแพทย์แผนไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน | แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ตำราแห่งชาติฉบับแรก

เมื่อเราลองมองย้อนกลับไปในยุคสมัยก่อน เราจะได้เห็นได้เลยว่าคนในสมัยก่อนนั้นเขามีความรู้ ความสามารถ เก่งกล้ารอบด้านจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการประดิษฐ์ของใช้ต่าง ๆ ด้านการทำอาหารที่ต้องใช้ความละเอียดละอ่อนเป็นอย่างมาก และยังรวมถึงการนำสมุนไพรต่าง ๆ มาใช้เป็นยารักษาโรค

เปิดประวัติศาสตร์ การแพทย์แผนไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าในยุคสมัยนั้น การเป็นหมอยา หรือ หมอรักษาโรค จะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากสักเท่าไหร่ เพราะการรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคต่าง ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ด้วยความทันสมัยของเครื่องมือที่ใช้ วิธีการรักษาก็ทำได้ยากกว่าในปัจจุบัน แถมยังไม่มีสถาบันที่เปิดสอนแพทย์โดยตรง ซึ่งเป็นเพียงความรู้ที่ถูกสืบทอดต่อ ๆ กันมาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยที่หมอยาเหล่านี้จะมีนำความรู้เหล่านี้มาจากตำราบันทึกประสบการณ์และจากการบอกเล่าของหมอยารุ่นเก่าเท่านั้น

แต่ในเวลาต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1725-1729 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโดยการสร้างสถานพยาบาล เรียกว่า อโธคยาศาลา (ประกอบด้วย หมอ, พยาบาล, เภสัชกร รวม 92 คน) คอยทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย หลังจากนั้นได้มีการค้นพบหินบดยาสมัยทวาราวดีและศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัย ที่ได้บันทึกไว้ว่าทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่บนเขาหลวงหรือเขาสรรพยา เพื่อให้ราษฏรได้เก็บสมุนไพรไปใช้รักษาโรคยามเจ็บป่วย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ค้นพบบันทึกว่า มีระบบการจัดหายาที่ชัดเจนสำหรับประชาชนมากขึ้น โดยมีแหล่งจ่ายยาและสมุนไพรหลายที่ด้วยกัน ทั้งในกำแพงเมืองและนอกกำแพงเมือง โดยได้มีการรวบรวมตำรับยาต่าง ๆ ขึ้นเป็นครั้งแรกเรียกว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งเป็นตำราที่ว่าด้วยโอสถพระนารายณ์ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้

  1. กล่าวถึงความผิดปกติของธาตุทั้ง 4 ในร่างกายและวิธีการใช้ยาแก้
  2. กล่าวถึงตำรับยาต่าง ๆ
  3. กล่าวถึงตำรับยาจากน้ำมันและยาขี้ผึ้ง

การแพทย์แผนไทยสมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อเข้าสู่ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ การแพทย์แผนไทย หรือ การแพทย์แผนโบราณ ก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังได้มีการจัดตั้งทั้งโรงพยาบาล โรงเรียนสอนทางด้านการแพทย์โดยตรง พร้อมทั้งยังได้นำความรู้ทางการแพทย์ด้านตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับวิธีการรักษาแบบแพทย์แผนไทย อีกด้วย มีรายละเอียดดังนี้

จารึกเกี่ยวกับแพทย์แผนโบราณ วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 

รัชกาลที่ 1

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เริ่มปฏิสังขรณ์ วัดโพธิ์ (วัดโพธาราม) ให้กลายเป็นอารามหลวงและเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงให้มีการเก็บรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยเอาไว้ ตั้งแต่ตำรายาสมุนไพร ฤาษีดัดตน และตำราที่เกี่ยวกับการนวด โดยมีหมอหลวงเป็นแพทย์ที่รับราชการ และหมอราษฎร (หมอเชลยศักดิ์) ทำหน้าที่รักษาประชาชนทั่วไป

รัชกาลที่ 2

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ให้ผู้ชำนาญโรคและสรรพคุณยา รวมทั้งผู้ที่มีตำรายานำเข้ามาถวายและให้กรมหมอหลวงคัดเลือกจดเป็นตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถ และในปี พ.ศ. 2359 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายชื่อว่า กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย

รัชกาลที่ 3

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อจัดตั้งเป็น โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงเรียนแพทย์แผนไทยแห่งแรกที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อจัดเก็บตำราแพทย์แผนไทยที่กำลังจะสูญหาย เนื่องจากแพทย์แผนตะวันตกเริ่มเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ และที่นี่ก็ได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทยจนถึงในปัจจุบัน

รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 การแพทย์แผนตะวันตกเริ่มแพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำคลอด การใช้ยารักษาแบบแผนตะวันตก ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากคนไทยยังคงเลือกใช้การรักษาแพทย์แผนไทยมากกว่า ทำให้มีการแบ่งตำราออกเป็น การแพทย์แผนโบราณหรือการแพทย์แผนเดิม กับ การแพทย์แผนปัจจุบัน มีการกำหนดข้าราชการฝ่ายวังหน้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ ได้แก่ ข้าราชการในกรมหมอ กรมหมอยา กรมหมอนวด กรมหมอกุมาร กรมหมอยาตา หมอฝรั่ง

การปรุงยาแผนโบราณ ในสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณหน้าโรงพยาบาลศิริราช

รัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงจัดตั้งโรงศิริราชพยาบาลขึ้นมา ใน พ.ศ.243 (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลศิริราช) เพื่อเป็นสถานที่ในการเรียนการสอนของการแพทย์ทั้งโบราณและแผนตะวันตกร่วมกัน ในหลักสูตร 3 ปี ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการพิมพ์ตำราแพทย์สำหรับใช้ในโรงเรียนการแพทย์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2438 โดยพระยาพิษณุ มีชื่อว่า ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ได้รับยกย่องให้เป็นตำราแห่งชาติฉบับแรก

ต่อมาพระยาพิษณุประสาทเวช เห็นว่า ตำราเหล่านี้ยากแก่ผู้ศึกษาจึงได้พิมพ์ตำราขึ้นใหม่ ได้แก่ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง 2 เล่ม และตำราแพทย์ศาสตร์สังเขป 3 เล่ม ซึ่งยังคงใช้เป็นตำราทางการแพทย์มาจนทุกวันนี้ หลังจากนั้นได้มีการเก็บข้อมูลใหม่อีกครั้งเพื่อความถูกต้องที่สุดและตำราใหม่นี้ก็ถูกนำมาเก็บไว้ที่ หอพระสมุดหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2438 โดยพระยาพิษณุ เรียกตำราที่ชำระใหม่นี้ว่า ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง หรือ ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์

รัชกาลที่ 6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการสั่งยกเลิกวิชาการแพทย์แผนโบราณ และต่อมาในปี พ.ศ. 2466 มีประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติการแพทย์เป็นการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับประชาชน อันเนื่องมาจากการประกอบโรคศิลปะของผู้ที่ไม่มีความรู้และมิได้ฝึกหัด ด้วยความไม่พร้อมในด้านการเรียนการสอน การสอบ และการประชาสัมพันธ์ ทำให้หมอพื้นบ้านจำนวนมากกลัวถูกจับจึงเลิกประกอบอาชีพนี้ บ้างก็เผาตำราทิ้ง

รัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ตรากฎหมายเสนาบดี แบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็น แผนปัจจุบันและแผนโบราณ โดยกำหนดไว้ว่า

รัชกาลที่ 8

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เป็นช่วงที่กำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ยาขาดแคลน ในปี พ.ศ.2485 – พ.ศ.2486 ศาสตราจารย์ นพ. อวย เกตุสิงห์ จึงได้ทำการวิจัยสมุนไพรไทยเพื่อทำการรักษาโรคมาลาเรีย ณ โรงพยาบาลสัตหีบ ภายหลังที่สงครามสงบ ภาวะขาดแคลนยายังคงเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยาทั้งหมดเป็นยาแผนปัจจุบัน และได้มีการจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นมาในปี พ.ศ.2485

อีกทั้งยังมีการยกเลิก พ.ร.บ.การแพทย์ที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2466 ทำการตรา พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะขึ้นมาแทนที่ในปี พ.ศ.2479 ทว่าตัวกฎหมายก็ยังคงทำการแบ่งการประกอบโรคศิลปะระหว่างการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันออกจากกัน ทำการควบคุมเหล่าบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มีความรู้ในวิชาชีพทางการแพทย์ต่อมาอีกกว่า 63 ปี

สถาบันการแพทย์แผนไทย

รัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในรัชสมัยนี้มีการจัดตั้งสมาคมของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ โดยได้ก่อตั้งขึ้น ณ วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2500 มีการเรียนการสอนด้านแพทย์แผนโบราณ ทั้งวิชาเภสัชกรรม, การผดุงครรภ์ไทย, เวชกรรม, เภสัชกรรม และการนวดแผนไทย นับตั้งแต่นั้นมาสมาคมต่าง ๆ ก็ได้แตกสาขาออกไป ปัจจุบันก็มีโรงเรียนแพทย์แผนโบราณที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ใน ปี พ.ศ.2525 ได้ก่อตั้งโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ให้การอบรมศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยแบบประยุกต์

ต่อมาในปี พ.ศ.2542 มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พร้อมการจัดตั้งหน่วยงาน สถาบันการแพทย์แผนไทย พร้อมด้วยการปรับเปลี่ยนระบบภายในกระทรวงสาธารณสุขใหม่ให้เป็นกองหนึ่งใน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พัฒนาการแพทย์แผนไทยให้ก้าวหน้า ได้รับการดูแลคุ้มครอง และยังคงรากฐานความมั่นคงมาจวบจนทุกวันนี้

รัชกาลที่ 10

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยของประชาชนเป็นปัจจัยและพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศจึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ทั้งด้านการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน) โปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร

โดยที่พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย

และยังทรงเป็นองค์ประธาน ในการจัดสร้าง มูลนิธิกาญจนบารมี ศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลวโรกาสเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปีที่ 50 โดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการของโครงการกาญจนบารมี ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิกาญจนบารมีขึ้น ในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

** นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สำหรับความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย (และแพทย์แผนปัจจุบัน) ที่ในปัจจุบันแพทย์ทั้งสองแขนงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการรักษาผู้ป่วย

ข้อมูลและภาพจาก : medthai.comwww.hfocus.orgwww.honestdocs.cosites.google.com, www.hfocus.org, www.thaihealth.or.th, FB : สถาบันการแพทย์แผนไทย

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง