16 มกราคม วันครู … ไม่ใช่ วันไหว้ครู

เชื่อว่าหลายคนอาจเคยสับสนว่าวันครูและวันไหว้ครูคือวันเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วทั้ง 2 วันนี้ไม่ใช่วันเดียวกัน แถมยังเป็นวันที่อยู่ห่างกันกว่า 5 เดือน แต่ทั้ง 2 วันนี้มีความเกี่ยวข้องกับคุณครูเหมือนกัน จึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้

16 มกราคม วันครู … ไม่ใช่ วันไหว้ครู

วันนี้แคมปัส-สตาร์จะมาอธิบายความแตกต่างของทั้ง 2 วัน ตั้งแต่ความเป็นมา ความสำคัญและการปฏิบัติตนในวันนั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและเข้าใจในวันสำคัญทั้ง 2 วันอย่างลึกซึ้ง

Portrait of smart teacher and schoolgirl standing by blackboard and looking at schoolkids in classroom

วันครู

วันครูตรงกับวันที่ 16 มกราคมของทุกปี เริ่มต้นจากการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี พ.ศ.2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ โดยมีใจความสำคัญสื่อถึงพระคุณของคุณครู เพราะครูเป็นผู้ให้แสงสว่าง ให้ความรู้และชี้นำทางให้ลูกศิษย์ จึงควรมี “วันครู” เกิดขึ้นเพื่อให้บรรดาลูกศิษย์ได้แสดงความเคารพ สักการะต่อครูผู้มีพระคุณ เช่นเดียวกับวันตรุษหรือวันสงกรานต์ ที่เป็นประเพณีในการระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ให้กำเนิด คุณครูก็เปรียบเสมือนผู้ให้กำเนิดคนที่สองเช่นกัน

จากแนวความคิดนี้ประกอบกับความเห็นของหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงกำหนด “วันครู” ขึ้นเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน โดยวันครูจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว

ดอกไม้ประจำวันครู คือ ดอกกล้วยไม้

และได้มีการประกาศให้ดอกกล้วยไม้เป็นดอกไม้ประจำวันครู ในปี พ.ศ. 2539 เนื่องจากการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ต้องให้ความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่เป็นเวลานาน เพื่อให้ได้ผลิดอกสวยงาม เช่นเดียวกับการใช้เวลาอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ ก็ต้องใช้ทั้งวิชาความรู้ที่มีและความเอาใจใส่ เพื่อให้เติบโตเป็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติ

ปัจจุบันการจัดงานวันครูจะจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ในส่วนกลางจะมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ อาจจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้ โดยวันครูจะประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมทางศาสนา พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ และกิจกรรมเพื่อความสามัคคีในหมู่คุณครู นอกจากนี้สถานศึกษาหลายแห่ง ยังนิยมจัดกิจกรรมสัปดาห์วันครู มีนิทรรศการให้ความรู้ และการประกวดในหัวข้อเกี่ยวกับครู เช่น กล่าวสุนทรพจน์ แต่งคำประพันธ์ วาดรูป เป็นต้น

สำหรับนักเรียนปัจจุบันหรือศิษย์เก่า ในวันนี้ก็จะเดินทางไปพบกับคุณครูที่เคยสอนหรือเคยเป็นครู-ลูกศิษย์กัน เพื่อรำลักถึงพระคุณของครู พร้อมดอกไม้เพื่อไหว้ครู อาทิ พวงมาลัย ดอกกุหลาบ หรือจะเป็นสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ อาทิ กระเช้าผลไม้ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เป็นต้น


ภาพจาก: m-culture.go.th

วันไหว้ครู

วันไหว้ครูเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต เป็นการแสดงตนเพื่อขอเป็นศิษย์ของท่านโดยตรง และอีกนัยหนึ่งเพื่อแสดงความระลึกถึงบุญคุณของครู โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงแรกของการเปิดภาคเรียนที่ 1 ตามการเปิดเทอมแบบเก่า หรือจัดขึ้นช่วงเดือนกันยายนตามการเปิดภาคเรียนแบบอาเซียน ซึ่งจะกำหนดจัดพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี ตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะเชื่อว่าพระพฤหัสเป็นเทพที่ส่งเสริมวิทยาการและความเฉลียวฉลาด

สิ่งสำคัญในวันไหว้ครูคือ การประดิษฐ์พานไหว้ครูโดยนักเรียนและเหล่าลูกศิษย์ ซึ่งจะประกอบด้วยดอกไม้ที่มีความหมายดีและสื่อถึงการรำลึกถึงคุณครู ได้แก่ ดอกมะเขือ หญ้าแพรก ดอกเข็ม และข้าวตอก ในอดีตพานไหว้ครูมักจะประดิษฐ์จากดอกไม้ แต่ในปัจจุบันมีการออกแบบและใช้ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น มีทั้งพานแบบการ์ตูน ขนม ผลไม้ ฯลฯ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >>>พานไหว้ครู 4.0 แบบพานไหว้ครูปี 2561 | ยอมแล้วจ้ะน้องจ๋า ไอเดียดีงามกันจริงๆ !

ในพิธีไหว้ครู จะมีตัวแทนในการถือพานไหว้ครูเป็น ชาย 1 คน หญิง 1 คน  โดยจะต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ บุคลิกภาพ การเรียน กิจกรรม การประพฤติตน เป็นต้น ‘ผู้ชายจะถือพานธูปเทียน’ ส่วน ‘ผู้หญิงจะถือพานดอกไม้’ จากนั้นจะเข้าสู่พิธีโดยการสวด “บทสวดไหว้ครู” กล่าวคำปฏิญาณตน และนำพานไหว้ครูมอบให้คุณครู บางสถานศึกษามีการร้องเพลงพระคุณที่สาม ซึ่งเปรียบเสมือนเพลงประจำตัวของคุณครู

ภาพจาก : Preamzzzzzz

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก moe.go.th

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง