มากกว่าเบื้องหน้าที่มีนักแสดง แต่งตัวสวยๆ หล่อๆ มาโชว์ความสามารถแล้ว งานหลังม่านก็สำคัญไม่แพ้กัน การจะมีละครเวทีสักเรื่องออกมาโลดแล่นบนเวที จะมีขั้นตอนยุ่งยาก เหน็ดเหนื่อยสาหัดขนาดไหนกันบ้างมาดูกัน
กว่าจะเป็นละครเวที
การจัดการแบ่งหน้าที่
สิ่งสำคัญในการฟอร์มทีมงาน คือ การแบ่งหน้าที่ของแต่ละคนว่าคนไหนมีหน้าที่อะไรที่ต้องรับผิดชอบบ้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ, คนเขียนบท, นักแสดง, ฝ่ายเสื้อผ้า, ฝ่ายแต่งหน้าทำผม, ทีมควบคุมเวที ฉาก แสง สี เสียง, ดูแลสวัสดิการต่างๆ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และ ฯลฯ อีกมากมายที่ต้องแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบกันไปเป็นส่วนๆ
เนื้อเรื่อง บทละคร
การเลือกบทเป็นหน้าที่ของทีมงาน ที่จะเลือกบทที่สนใจ หรือเขียนเรื่องที่น่าสนใจขึ้นมาใหม่ หรือแม้แต่นำบทจากเนื้อเรื่องที่มีอยู่แล้ว นำมาดัดแปลงก็สามารถทำได้เช่นกัน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างต้นๆ หลังจากแบ่งหน้าที่ของทีมงานแล้ว โดยทีมงานจะต้องหารคนเขียนบทเข้ามาดูในรายละเอียดของ บทเรื่อง บทพูดของตัวแสดง และภาพประกอบของเนื้อเรื่อง
เลือกนักแสดงที่เหมาะสมบทบาท
ถือเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากอีกขั้นตอนหนึ่ง เนื่องจากการคัดเลือกนักแสดงไม่ใช่แค่ชอบใคร สวย หล่อแล้วจะมาเป็นได้ แต่ต้องดูกันที่ความสามารถของเขาเหล่านั้นด้วยว่าแสดงได้เข้าถึงบทบาทตัวละครที่ต้องแสดงหรือไม่ โดยส่วนนี้ทีมงาน ผู้กำกับ และคนเขียนบทจะเข้ามาดูคัดเลือกผู้แสดงด้วยตนเอง อาจจะมีคนสนใจเข้ามาแสดงความสามารถเป็นหลักร้อย หลักพัน แล้วแต่ทีมงานจะเปิดรับ ก็เป็นประสบการณ์หนักๆ ของผู้กับกับและคนเขียนบทที่ต้องจะต้องใช้ความสามารถ และไหวพริบในการดูการแสดง ให้ได้นักแสดงที่ตรงกับบทให้ได้มากที่สุด
อ่านบท และเริ่มซ้อมละครเวที
เมื่อได้ตัวละครต่างๆ มาแล้ว จะเริ่มด้วยนักแสดงทุกคนมาร่วมกันอ่านบทละครร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวละครจากบทละครในแต่ละหน้า แต่ละตอน ก่อนจะลงมือจัดคิวซ้อมละครเวที โดยการซ้อมจะซ้อมเป็นลำดับของเรื่องไป ไม่ตัดสลับไปมา รวมถึงดูตำแหน่งของตัวละครพร้อมฉาก เพื่อให้รู้ว่า ตัวละครควรยืนจุดไหน ไม่บังฉาก ไม่บังกัน เพื่อให้ผู้ชมสามารถมองภาพรวมได้ทั้งหมด เสียงประกอบ และเสียงของนักแสดงจะต้องเปล่งออกมาในโทนที่ใช้บนเวทีจริงๆ เพื่อให้ได้ภาพรวมออกมาอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด
ฉาก แสง เสียง
องค์ประกอบสำคัญของละครเวที คือ ฉาก แสง เสียงประกอบกับบทละคร โดยฝ่ายศิลป์จะออกแบบฉากโดยคำนึงถึงเนื้อเรื่อง เหตุการณ์ การแสดง การเข้าออกฉาก การยิงโปรเจคเตอร์แสงไฟ แสงอ่อนหรือแรง บวกกับเรื่องของเสียง ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด เพื่อให้คนดูไม่รู้สึกอึดอัด และรู้สึกถึงความสมจริง เป็นธรรมชาติ
ซึ่งตัว ‘แสง’ จะช่วยสร้างบรรยากาศรอบตัวให้เข้ากับเนื้อเรื่องการแสดง ‘สี’ มีผลทำให้บรรยากาศและอารมณ์ตัวละครมีผลต่ออารมณ์ร่วมของผู้ชม เช่น เวลาตัวละครมีความรัก อยากจะใช้สีละมุนๆ หรือสีโทนหวาน เมื่อตัวละครมีอารมณ์โกรธ จะใช้สีที่แสดงออกถึงความร้อนแรง เช่น สีแดง สีส้ม หรือสีดำทะมึน และ ‘เสียง’ จะช่วยให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงเรื่องราว และมีจินตนาการร่วมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงฝนตก ฟ้าร้อง ตัวละครปิดประตู ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดในได้ในละครเวทีเลย
ก่อนแสดงจริง
ก่อนการแสดงในรอบการแสดงจริงที่เปิดให้ผู้ชมเข้าดู จะมีการซ้อมการแสดงจริงก่อน ซึ่งถือเป็นการซ้อมครั้งใหญ่ ทำทุกอย่าง ทุกกระบวนการเหมือนการแสดงจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฉาก แสง สี เสียง ตัวละคร ที่ต้องแต่งหน้า แต่งชุดในการแสดงจริงๆ และมีการเปลี่ยนฉากจริง เป็นการแสดงอย่างต่อเนื่องเหมือนวันจริง เพื่อให้เห็นภาพรวมของละครเวทีให้มากที่สุด หากมีการปรับแก้ก็ต้องแก้ไขกันตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้งานละครเวทีออกมาดีที่สุด
.
ติดตามคอลัมน์อื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Campus Star No.55
Facebook : www.facebook.com/CAMPUSSTAR