หากพูดถึงคำว่า “Creative” ในประเทศไทย สายงานที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ แน่นอนว่าเป็นสายอาชีพในวงการโฆษณา รวมถึงคนทำงานโปรดักชัน จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า จำนวนคนทำงานวงการโฆษณาจะสูงติดอันดับ 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมนี้สูงสุด ตามข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA
5 เรื่องสำคัญที่นักโฆษณา และสายโปรดักชันต้องรู้
บทความนี้จึงขอสรุปไอเดียสำคัญด้านอุตสาหกรรมโฆษณาประชาสัมพันธ์ และสายโปรดักชัน จากงาน Creativities Unfold 2023 งานชุมนุมทางความคิดสร้างสรรค์ ที่จัดโดย CEA ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “VISIONAIRE: Reminisce/The Way Forward – แปลงอดีต เปลี่ยนวิสัยทัศน์อนาคต” ภายใต้งาน Creative Business Connext
ซึ่งปีนี้มีคุณ Kentaro Kimura (เคนทาโร คิมูระ) จาก Hakuhodo ผู้นำทางความคิดสร้างสรรค์ชาวญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาแนวหน้าของโลก และ Stephen Jenner (สตีเฟน เจนเนอร์) จาก Motion Picture Association นักสื่อสารมวลชนและที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์คนสำคัญคนหนึ่งของโลก มาร่วมเผยมุมมอง และเทรนด์สำคัญในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในกลุ่มนี้
1. จงอย่ากลัวที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แม้แต่การฉีกขนบ ความเชื่อแบบเดิม
คิมูระ กล่าวว่า ความเชื่อของแต่ละประเทศล้วนมีข้อจำกัดต่อทัศนคติของผู้คนเป็นอย่างยิ่ง แต่ในวงการโฆษณาสามารถทำให้ข้อจำกัดนั้นหายไปได้ ผ่านพลังของการสื่อสารแบบสร้างสรรค์ โดยทำให้ข้อห้าม ข้อจำกัดเหล่านั้น รวมถึงความคิดแตกแยกหายไป นำไปสู่การสร้างแคมเปญอันทรงพลัง
2. จงออกเดินทาง เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่
การพูดคุยกับผู้คนและสัมผัสกับวัฒนธรรม สามารถเกิดไอเดียและแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ในแคมเปญของนักสร้างสรรค์ได้ สำหรับคิมุระเอง เขาไม่ได้ยึดติดการทำงานโฆษณาแบบดั้งเดิม ด้วยการสื่อสารผ่านภาพ (Visual) และคำโฆษณา (Copy) เพียงเท่านั้น แต่เขาขับเคลื่อนด้วยทุกความเป็นไปได้ ผ่านการสร้างแคมเปญที่สามารถสื่อสารกับผู้คน ด้วยการสร้างอารมณ์ร่วมด้วยช่องทางต่าง ๆ จากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเดินทาง และได้พบปะพูดคุยกับผู้คนที่แตกต่าง เพื่อเปิดมุมมอง ไอเดีย รวมถึงได้แรงบันดาลใจใหม่ ๆ
3. การออกนอกกรอบเดิม ๆ ไม่ยึดติดกับรูปแบบหรือแพลตฟอร์ม นำไปสู่โอกาสใหม่ได้เสมอ
การคิดนอกกรอบ จะช่วยให้เราสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะความคิดที่แปลกแหวกแนวและแตกต่าง สามารถหลอมรวมไปสู่การวางแผนกลยุทธ์ งานครีเอทีฟ งานดิจิทัล และงานประชาสัมพันธ์ และนำไปซึ่งโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างการสื่อสารกับผู้คนที่เฉียบแหลมและเป็นที่จดจำ
4. AI ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ในงานโปรดักชัน
AI ได้ถูกนำมาใช้ในวงการภาพยนตร์ และงานโปรดักชันได้เป็นอย่างดี และยังช่วยสร้างอุตสาหกรรมบันเทิงให้เติบโต ก้าวหน้า แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงต้องใช้จินตนาการจากมนุษย์อยู่ดี เจนเนอร์ ได้กล่าวว่า AI เป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นตัวช่วยในการเสริมสร้างศักยภาพของนักสร้างภาพยนตร์ได้ อาทิ การใช้ AI เขียนบทภาพยนตร์ ทำ Story Board ใช้ VR Effect ทำภาพยนตร์ หรือแม้แต่ทำให้นักแสดงดูหนุ่มขึ้น ดูเด็กขึ้น ก็สามารถทำได้ AI จึงสามารถช่วยสร้างอุตสาหกรรมบันเทิงให้เติบโต ก้าวหน้าได้ แต่ก็ต้องอาศัยการควบคุมหรือริเริ่มจากไอเดียของมนุษย์
5. การเล่าเรื่องที่ดี สามารถทลายกำแพงด้านภาษาได้
เจนเนอร์ ได้ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Parasite ซึ่งเป็นภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้เรื่องแรกที่คว้ารางวัล เวทีระดับโลกอย่าง “ออสการ์” ได้ และยังเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องแรก ที่ชนะรางวัลใหญ่สุดของเวที ทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการการันตีให้เห็นว่า Parasite ภาพยนตร์สัญชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่แสนตลกร้ายที่ไม่ได้เพียงแต่โดนใจเฉพาะคนเอเชีย แต่ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในโลกตะวันตก และถูกใจคนไปทั่วทั้งโลกอีกด้วย