ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่ประชาชนชาวไทยได้พร้อมใจกันปลูกดอกดาวเรืองให้เหลืองสะพรั่งไปทั่วไทยแล้ว หลังจากนี้เราก็อยากให้ดอกดาวเรืองนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากเพื่อตกแต่งสถานที่สวยงาม เพื่อจำหน่ายแล้ว ยังมีข้อดีๆ อื่นๆ ของดอกดาวเรือง ดังนี้
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ดอกดาวเรือง
สรรพคุณของดาวเรือง
ใบ : รสชุ่มเย็น มีกลิ่นฉุน ใช้แก้ฝีฝักบัว ฝีพุพอง เด็กเป็นตานขโมย ตุ่มมีหนอง บวมอักเสบโดยไม่รู้สาเหตุ
ช่อดอก : รสขม ฉุนเล็กน้อย ใช้กล่อมตับ ขับร้อน ละลายเสมหะ แก้เวียนศีรษะ ตาเจ็บ ไอหวัด ไอกรน หลอดลมอักเสบ เต้านมอักเสบ คามทูม เรียกเนื้อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น และแก้ปวดฟัน
ตำรับยา
แก้ไอกรน ใช้ช่อดอกสด 15 ช่อ ต้มเอาน้ำมาผสมน้ำตาลแดงกิน
แก้หลอดลมอักเสบ ใช้ช่อดอกสด 30 กรัม กับจุยเฉี่ยวเอื้อง (Inula Helianthus-aquatilis C.Y. Wuex Ling) สด 10 กรัม และจี๋อ้วง (Astertataricus L.F.) สด 7 กรัม ต้มน้ำกิน
แก้เต้านมอักเสบ ใช้ช่อดอกแห้งเต่งเล้า (paris petiolata Bak. ex. Forb.) แห้งและดอกสายน้ำฝึ้ง (Lonicera japonica Thunb) แห้งอย่างละเท่า ๆ กัน บดเป็นผงผสมน้ำส้มสายชูทาบริเวณที่เป็น
แก้ปวดฟัน ตาเจ็บ ใช้ช่อดอกแห้ง 10 กรัม ต้มน้ำกิน
ดอกดาวเรือง สรรพคุณตามตำรายา คือ ช่วยบำรุงสายตาได้ดี ฟอกเลือด ละลายเสมหะ ขับลม ขับร้อน แก้ไอหวัด ไอกรน เต้านมอักเสบ คางทูม แก้เวียนศีรษะ (มีสาร “ลูทีน” ซึ่งเป็นสารอาหารในกลุ่มที่เรียกว่า แซนโทฟิลส์ (xanthophylls) มีลักษณะเป็นสารสีเหลือง เช่น ขมิ้นชัน ขิง ก็จัดในหมวดนี้)
ชาชงดอกดาวเรือง
วิธีทำ
1. นำดอกดาวเรืองมาล้างให้สะอาด
2. นำไปตากแดดให้แห้ง
3. นำมาคั่วหรืออบแห้งเพื่อสามารถเก็บไว้ได้นาน
4. เก็บใส่ขวดให้มิดชิด ปิดฝาให้แน่น
วิธีรับประทาน (ดื่ม)
ใช้ดอกดาวเรืองประมาณ 1-2 ดอก หรือหยิบมือ ใส่ในแก้วน้ำ , เทน้ำร้อนที่เดือดแล้วลงไป ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที ให้ตัวยาละลายออกมา จึงดื่ม
การใช้ประโยชน์จากดอกดาวเรือง
ปลูกประดับเพื่อความสวยงาม
ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันแมลง เนื่องจากดาวเรืองเป็นสารที่มีกลิ่น เหม็น (ฉุน) แมลงไม่ชอบ จึงสามารถใช้เป็น เกราะป้องกันแมลงให้แก่พืชอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้รากของดาวเรืองยังมีสารชนิดหนึ่ง ที่ช่วยลดปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้
ปลูกเพื่อจำหน่าย
-ใช้ทำพวงมาลัย ปัจจุบันนิยมนำดาวเรืองมาร้อยพวงมาลัยกันมาก ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยไหว้พระ หรือพวงมาลัยสำหรับ คล้องคอในงานพิธีต่าง ๆ การตัดดอกดาวเรือง สำหรับใช้ประโชน์ในด้านนี้จะต้องให้มีก้านดอกสั้น หรือเหลือเฉพาะดอก
-จำหน่ายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากดาวเรืองเป็นพืชที่มี สารแซธโธฟีล (Xanthophyll) สูง เมื่อตากให้แห้งจะสามารถนำไปเป็นส่วนผสม อาหารสัตว์ได้ดี โดยเฉพาะอาหารของไก่ไข่ จะทำให้ไข่แดงมีสีแดงสดใสน่ากินยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีดอกสีส้มแดง
สาระน่ารู้เกี่ยวกับต้นดาวเรือง
ต้นดาวเรือง เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก
โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้ราว 1 ปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 60-100 ซม.
ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดแบบเต็มวัน
โดยแหล่งเพาะปลูกดาวเรืองที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดลำปาง พะเยา ราชบุรี นนทบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร อุดรธานี และกรุงเทพฯ เป็นต้น
โดยดาวเรืองที่พบเห็นและปลูกกันมากในปัจจุบันจะมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ดาวเรืองอเมริกัน (Tagetes erecta), ดาวเรืองฝรั่งเศส (Tagetes patula), ดาวเรืองนักเก็ต (Triploid Marigold), ดาวเรืองซิกเน็ต (Tagetes tenuifolia หรือ Tagetes signata pumila) และดาวเรืองใบ (Tagetes filifolia)
สารสำคัญในดอกดาวเรือง
* ดอกดาวเรือง สรรพคุณของ สารสกัดจากดอกดาวเรือง (Marigold Flower) จะให้สารสำคัญคือ ลูทีนซึ่งเป็นสารอาหารในกลุ่มที่เรียกว่าแซนโทฟิลส์ (xanthophylls) มีลักษณะเป็นสารสีเหลือง อยู่ในจำพวกแคโรทีนอยด์ (carotenoids) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีประโยชน์ต่อดวงตา เพราะเป็นสารสำคัญที่อยู่ในจุดรับภาพของดวงตาที่เรียกว่า “มาคูลา (Macula)” สารอาหารลูทีนจะช่วยกรองแสงหรือป้องกันรังสีที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตา นอกจากนี้ลูทีน (Lutein) ยังช่วยปกป้องไม่ให้เซลล์ของจอประสาทตาถูกทำลาย และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อกระจก (Cataracts) โรคกระจกตาเสื่อม (AMD) ซึ่งชาวต่างประเทศรู้จักสารอาหารลูทีน (lutein) กันอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นสารอาหารที่ช่วยชะลออาการจอประสาทตาเสื่อมของผู้ใหญ่ จึงมีการศึกษาประโยชน์ของลูทีนที่มีต่อการปกป้องจอประสาทตาเพิ่มมากขึ้น
ที่มา www.karatbarsaec.com , medthai.com , ascannotdo.wordpress.com หรือจะซื้อแบบที่อบแห้งแล้ว จาก ไร่รื่นรมย์ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ดอกดาวเรืองอบแห้ง Marigold (30 กรัม) ราคา 140 บาท
บทความแนะนำ
เตือน! กิน ‘ดอกดาวเรืองตูมสด’ เสี่ยงอันตราย
ทั้งสารเคมี -ไร้ผลวิจัยมีประโยชน์ แนะตากแห้งชงเป็นชาดื่มบางครั้ง ย้ำคนป่วยตับ – ไต – ให้นมบุตร ควรเลี่ยง ส่วนใหญ่ที่พบคือจะรับประทานดอกดาวเรืองที่ตากแห้ง โดยนำมาชงดื่มในลักษณะของชา และใช้ปริมาณครั้งละประมาณ 1 หยิบมือเท่านั้น ส่วนการรับประทานดอกดาวเรืองตูมสด ยังไม่พบว่ามีภูมิปัญญาที่ใดใช้ จึงไม่แนะนำให้นำมารับประทาน เนื่องจากยังไม่มีการวิจัยที่ชัดเจนว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ / โดย ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี