มีสารพันความรู้เกี่ยวกับเรื่องสั้นจากปราชญ์ภาษาไทยหลายท่านที่รวบรวมอยู่ในงานเขียนเรื่อง วรรณกรรมปัจจุบัน ของ รศ.ไพรถ เลิศพิริยกมล รวมเป็นคำตอบดังนี้ …
หลักการเขียนเรื่องสั้น …
เรื่องสั้น มีขนาดสั้น ใช้ตัวละครน้อย ดำเนินเรื่องรวดเร็วและมีจุดมุ่งหมายเดียว ที่เรียกว่าเรื่องสั้นก็เพราะ กำหนดความยาวของเรื่องเอาไว้ คือระหว่าง 2,000-12,000 คำ อาจสั้นกว่าหรือยาวกว่านั้นก็ยังถือว่าเป็นเรื่องสั้น เช่น บางเรื่องอาจยาว 1 หน้ากระดาษฟูลสแก๊ป เรียกเรื่องสั้นขนาดสั้น ถ้าเรื่องยาวมากถึงขนาด 4 ตอนจบ เรียกเรื่องสั้นขนาดยาว
สิ่งที่จะต้องมีในการเขียนเรื่องสั้น
ประภัสสร เสวิกุล อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่ง ประเทศไทย แนะนำว่า การจะเป็นนักเขียนเรื่องสั้นหรือนวนิยาย สิ่งที่ควรจะต้องมีคือ จินตนาการ ศิลปะการประพันธ์ ประสบการณ์ และ วิชาการตามสมควร เรื่องที่เขียนจึงจะออกมาชวนอ่านและมีสาระ หรือมีน้ำหนัก จินตนาการที่ดีจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นจริง เหมือนกับการที่ต้องการจะปลูกดอกไม้สักชนิดหนึ่ง ก็ควรจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับดอกไม้ชนิดนั้นอยู่บ้างพอสมควร ดินที่จะใช้ปลูกควรจะเป็นดินแบบไหน ลักษณะดอกและใบเป็นอย่างไร ถ้ารู้จักและมีประสบการณ์มาแล้วย่อมพูดถึงหรือบรรยายถึงได้อย่างถูกต้อง ทำให้อ่านแล้วเห็นภาพตามที่เขียนออกไปได้
ส่วนการที่จะเขียนเรื่องสั้นหรือนิยายเรื่องหนึ่งเรื่องใด เริ่มแรกต้องมีประเด็นที่ทำให้เกิดความสนใจพิเศษ บางครั้งสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นอาจจะเป็นแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ จะอย่างไรก็ตาม ถ้ารักจะเป็นนักเขียนขอแนะนำว่าต้องลงมือเขียน และเขียนจนกว่าจะค้นพบแนวการเขียนที่ถนัด
ตามหลักวิชาการ องค์ประกอบของเรื่องสั้นมี
1.แนวคิดหรือแกนนำของเรื่อง ต้องเป็นแนวคิดสำคัญที่มีลักษณะเด่น คมคาย มีเพียงแนวคิดเดียว
2.โครงเรื่อง ต้องมีลักษณะกะทัดรัด ไม่ยืดยาว ดำเนินเรื่องฉับไว ลักษณะของโครงเรื่องขึ้นอยู่กับชนิดของเรื่อง แต่เรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจผู้อ่านมักเป็นเรื่องสั้นชนิดผูกเรื่องโดยหักมุมจบให้ผู้อ่านคาดไม่ถึง
3.ตัวละคร ไม่ควรมีหลายตัว ต้องมีลักษณะสมจริง สะท้อนชีวิตหรือเป็นตัวแทนของบุคคลจริงๆ
4.ฉาก ต้องสมจริง ให้ภาพจินตนาการชัดเจน น่าสนใจ
5.ถ้อยคำหรือบทสนทนา สมจริง ใช้ภาษาประณีต คมคาย ชวนติดตาม
ส่วนสำคัญ 3 ประการ
ทั้งนี้ การจะเป็นเรื่องสั้นต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ
1.การเปิดเรื่อง เป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนเรื่องสั้นที่สำคัญ ถ้าเปิดเรื่องไม่ดี ไม่น่าสนใจ ก็ไม่มีคนอ่าน การเปิดเรื่องทำได้หลายวิธี เช่น พรรณนา ใช้บทสนทนา หรือสร้างนาฏการ สร้างเหตุการณ์ให้เกิดความสนใจอย่างรวดเร็ว
2.การดำเนินเรื่อง เป็นวิธีการเขียนเรื่องติดต่อกันเป็นเรื่องราวชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ สร้างความขัดแย้งและเล่าเรื่อง
3.การปิดเรื่อง อาจจบอย่างมีความสุข หรือโศกเศร้า หรือจบโดยให้คิดเอง
สรุปคุณสมบัติของเรื่องสั้น
คือ
1.ตัวละครที่น่าสนใจ
2.เหตุการณ์ที่น่าสนใจ
3.การเปิดเรื่องที่เร้าใจ
4.จุดสุดยอด (climax)
5.การปิดเรื่องที่สมบูรณ์
6.การใช้ภาษาเหมาะสม
ด้าน ศ.ฐะปะนีย์ นาครทรรพ สรุปถึงการเขียนเรื่องสั้นว่า “พึ่งประสบการณ์ อ่านให้มาก นึกอยากเขียน เพียรฝึกฝน สนใจมนุษย์ จุดหมายเด่น เฟ้นภาษา หาเชื้อเพลิงและสำเริงอารมณ์”
รู้ไปโม้ด : nachart@yahoo.com นสพ.ข่าวสด