รู้จักกับ 10 สัตว์-พืชประหลาด ที่มีในโลกของเรา

เราค้นพบพืชสัตว์หลายพันธุ์มาก็มาก แต่ก็มีอีกมากมายเช่นกันที่รอคอยการค้นพบจากชุมชนนักวิทยาศาสตร์และสังคมโลก ซึ่งการจัดหมวดหมู่ การแยกประเภทสัตว์พืช แต่ละชนิด แต่ละสปีชีส์ นับเป็นส่วนสำคัญในการเข้าใจประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และยังจำเป็นต่อการรักษาระบบนิเวศน์ เพื่อจะได้อนุรักษ์ ทั้งยังตรวจสอบได้ว่ามีพืชสัตว์พันธุ์ใดเข้ามารุกราน ทั้งยังสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ

รู้จักกับ 10 สัตว์-พืชประหลาด

มื่อปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์พบพืชและสัตว์ใหม่ๆ นับพันพันธุ์ โดยสถาบันสำรวจสปีชี่ส์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยอริโซน่าสเตต (The International Institute for Species Exploration (IISE)) จะจัดลำดับ 10 สิ่งมีชีวิตที่แปลกที่สุดที่ค้นพบแห่งปี และสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดที่สุดที่พบ… เมื่อ พ.ศ 2550 เรียงตามลำดับคือ

  1. ปลากระเบนไฟฟ้าจากแอฟริกา
  2. ฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ด
  3. กิ้งกือมังกรสีชมพู
  4. กบหายากจากศรีลังกา
  5. งูพิษไทปันชนิดใหม่
  6. ค้างคาวผลไม้
  7. เห็ด
  8. แมงกระพรุน
  9. ด้วงแรด
  10. พืชพันธุ์ใหม่

1.ปลากระเบนไฟฟ้าจากแอฟริกา

มีชื่อสามัญว่า “ออร์เนต สลีปเปอร์ เรย์ (Ornate sleeper ray)” ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ “อีเลคโทรลักซ์แอดดิโซนี่ (Electrolux addisoni)” ซึ่งตั้งชื่อตามบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าอีเลคโทรลักซ์ และนายมาร์ค แอดดิสัน ซึ่งเป็นผู้รวบรวมตัวอย่างของพืชสัตว์ เหตุที่ปลาพันธุ์นี้ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 1 เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ปลากระเบนไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์นาร์คิดี ( Narkidae) มันมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าที่ดี ปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ พบบริเวณชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศแอฟริกาใต้ ในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก

2. ฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ด (Duck-billed Dinosaur)

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gryposaurus monumentensis พบ ในแหล่งขุดค้นซากไดโนเสาร์ รัฐยูทาห์ ฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา อยู่บนโลกเมื่อ 75 ล้านปีก่อน ในยุคครีเตเชียสตอนปลาย เป็นไดโนเสาร์ที่มีขากรรไกรแบบจะงอยปากนกที่ทรงพลังมาก มีฟัน 300 ซี่ ฉีกพืชผักได้เกือบทุกชนิด มีฟันตัดมากถึง 500 ซี่ ขากรรไกรล่าง ยาว 0.6 เมตร ตัวเต็มวัยลำตัวยาวถึง 9 เมตร ทำให้ติดอันดับไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่งของโลก

3. กิ้งกือมังกรสีชมพู หรือ Shocking Pink Millipede

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Desmoxytes purpurosea พบที่ประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของไทยที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก จุดเด่นที่แตกต่างไปจากกิ้งกือชนิดอื่นๆ คือ มีสีชมพูสด มีลักษณะโครงสร้างหน้าตา มีปุ่มหนาม และขนรอบตัวคล้ายมังกรในเทพนิยาย ที่สำคัญยังมีระบบป้องกันตัว โดยจะขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ออกมาป้องกันศัตรู แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ เพราะปริมาณสารพิษที่ออกมาน้อยมาก ทั้งยังพบว่ามีพฤติกรรมที่ชอบออกหากินตอนกลางวัน ทำให้มันต้องปรับตัวให้มีสีสันสดใสแบบสีช็อกกิ้งพิ้งค์

4. กบหายากจากศรีลังกา หรือ Rare Frog Off the Shelf

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Philautus maia ก่อนหน้านี้เชื่อว่ากบนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่เมื่อมีการค้นพบอีกครั้งจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและสำคัญต่อการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของศรีลังกา กบพันธุ์นี้มีลักษณะเช่นเดียวกับตัวอย่างกบที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ค.ศ. 1860 และต่อมาไม่เคยมีใครพบเห็นอีก จึงเป็นไปได้ที่จะไม่ค่อยมีใครรู้จัก

5. งูพิษไทปันชนิดใหม่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oxyuranus temporalis

เป็นงูที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลก เป็นญาติสนิทของงู 2 สายพันธุ์ คือ งูอินแลนด์ไทปัน ซึ่งอาศัยลึกเข้าไปในแผ่นดินเกาะไทปัน และงูโคสต์ทัลไทปัน ที่อยู่ตามชายฝั่ง สำหรับงูอินแลนด์ไทปันเป็นงูที่มีพิษร้ายแรงเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่วนงูโคสต์ทัลไทปัน เป็นงูที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก การค้นพบงูชนิดนี้มีความสำคัญต่อการจัดประเภทสิ่งมีชีวิตที่มีพิษรุนแรง เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ที่ถูกงูกัด

6. ค้างคาวผลไม้

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Styloctenium mindorensis พบบนเกาะมินโดโรของฟิลิปปินส์ เป็นค้างคาวชนิดที่ 2 ในสกุลสไตลอคทีเนียม ส่วนชนิดแรกพบที่เกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย ใกล้กับหมู่เกาะโทเจี้ยน โดยนายอัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ หนึ่งในคณะทำงานของชาร์ลส์ ดาร์วิน และยังเขียนหนังสือร่วมกันชื่อ On the Tendency of Species to form Varieties และ On the Perpetuation of Varieties and Species by Natural Means of Selection

ค้างคาวผลไม้ชนิดนี้จัดเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติลดลง ทั้งยังถูกล่า แต่การค้นพบนับเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจพฤติกรรมและการแพร่พันธุ์ของค้างคาวบนเกาะมินโดโร เพื่อจะได้ทำการสำรวจและหาวิธีอนุรักษ์ต่อไป

7. เห็ด ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Xerocomus silwoodensis

พบครั้งแรกที่แคมปัสซิลวู้ดส ของอิมพีเรียลคอลเลจ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อมาพบในที่อื่นๆ คือ ที่อังกฤษ 2 แห่ง ที่สเปนและอิตาลีประเทศละแห่ง การค้นพบนี้มีความสำคัญต่อการศึกษาชนิดของพืชพรรณ ในโลก

8. แมงกระพรุน ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Malo kingi

ตั้งชื่อตามนายโรเบิร์ต คิง ชาวอเมริกัน ที่เสียชีวิตเพราะถูกพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้ ขณะเล่นน้ำทะเลอยู่ทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นแมงกะพรุนกล่องชนิดที่ 2 ของในวงศ์มาโล มีพิษรุนแรงมาก สำหรับการเสียชีวิตของคิง ทำให้เกิดการตื่นตัวและหาวิธีการจัดการแมงกะพรุน Malo kingi เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

9. ด้วงแรด หรือ Rhinoceros beetle

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Megaceras briansaltini เหตุที่ได้รับการตั้งชื่อว่าด้วงแรด เป็นเพราะมันมีเขาที่โค้งงอเหนือหัว มองดูคล้ายกับนอแรด พบในประเทศเปรู ซึ่งลักษณะโดดเด่นแปลกประหลาดของด้วงแรดนี้ยังไปคล้ายคลึงกับด้วงแรดสีฟ้าในภาพยนตร์เรื่อง A Bug’s Life

10. พืชพันธุ์ใหม่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tecticornia bibenda

มีรูปร่างแปลกตา มีข้อปล้องๆ คล้ายกับมาสค็อตของยางรถยนต์ยี่ห้อมิชลิน พบทางตะวันตกของออสเตรเลีย ในปีเดียวกันนี้ยังพบพืชพันธุ์ใหม่จากบริเวณเดียวกันอีก 298 ชนิดด้วย

เรียบเรียงโดย campus-star.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง