ฮือฮา!! นาซาค้นพบ ระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 7 ดวง อาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 60 ที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา (NASA) ได้แถลงข่าวการค้นพบครั้งสำคัญของโลก นั่นก็คือ การค้นพบระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุรยจักรวาล ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากโลกเพียงแค่ 40 ปีแสง ประกอบด้วยดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลกถึง 7 ดวงด้วยกัน โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียวกัน และอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้มากที่สุดเท่าที่เคยได้สำรวจและค้นพบมา

“TRAPPIST-1” ระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซา ได้ระบุว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสริยะจักรวาลทั้ง 7 ดวง ล้วนมีโอกาสมีน้ำเหลวอยู่บนดาวหากมีสภาพชั้นบรรยากาศที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามดาวเคราะห์ 3 จาก 7 ดวงนี้ ได้รับการยืนยันแล้วว่าอยู่ในเขตการอยู่อาศัยได้ (habitable zone) ซึ่งดาวเคราะห์ที่อยู่ในพื้นที่นี้มีโอกาสที่จะมีน้ำเหลวอยู่บนดาวมากที่สุด ซึ่งเมื่อมีน้ำก็อาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ด้วย การค้นพบครั้งนี้อาจเป็นชิ้นส่วนสำคัญในปริศนาของการค้นหาสภาพแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ สถานที่ซึ่งทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต

ภาพดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง ในระบบ TRAPPIST-1

นายโธมัส เซอร์บูเชน รองผู้บริหารกรมภารกิจวิทยาศาสตร์ (Scinence Mission Directorate) ของนาซา ในกรุงวอชิงตันกล่าวว่า “การตอบคำถามที่ว่า เราสามารถอยู่อย่างเดียวดายในอวกาศ เป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของวิทยาศาสตร์ และการพบดาวเคราะห์จำนวนมากในเขตอาศัยได้เป็นครั้งแรกเช่นนี้ นับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะพาไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้”

ภาพดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง เมื่อนำมาเทียบกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาล

ระบบดาวเคราะห์นี้มีชื่อว่า “TRAPPIST-1” ซึ่งมาจากชื่อของกล้องโทรทรรศน์ “Transiting Planets and Planetesimals small Telescope” ในประเทศชิลี ซึ่งค้นพบระบบดาวเคราะห์นี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2016 โดยในตอนนั้นพบดาวเคราะห์เพียง 3 ดวง ก่อนที่สถานีกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นหลายแห่งรวมทั้ง สปิตเซอร์ (ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซา) จะยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์ 2 ใน 3 ดวงนี้ และค้นพบดาวเพิ่มอีก 5 ดวง รวมเป็น 7 ดวง โดยระบบ TRAPPIST-1 อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 40 ปีแสง หรือราว 378 ล้านล้านกิโลเมตร

ภาพแสดงขอบเขตที่เหมาะแก่การให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต เมื่อเทียบกับระบบสุริยะจักรวาลของเรา

นอกจากนี้ ดาวฤกษ์ดวงนี้ยังถูกเรียกว่า “ดาวแคระแดง” (Red Dwarf) ส่วนระบบดาวฤกษระบบ TRAPPIST-1 มีขนาดใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี แต่มีลักษณะตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ คือจัดอยู่ในประเภทดาวฤกษ์เย็นมาก ซึ่งเย็นขนาดที่ดาวเคราะห์ที่โคจรใกล้ๆ ก็อาจจะมีน้ำเหลวอยู่บนพื้นผิวของดาวได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในระบบสุริยะจักรวาลของเรา โดยดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง โคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากกว่าระยะห่างระหว่างดาวพุธกับดวงอาทิตย์เสียอีก และอยู่ใกล้กันมากขนาดที่ว่าหากยืนบนดาวดวงหนึ่ง ก็สามารถมองเห็นสภาพธรณีวิทยาหรือเมฆของดาวอีกดวงได้ และดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 ยังหันหน้าเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า พื้นที่ของดาวจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนตลอดไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ภาพจำลองแบบ VR 360 องศา (สามารถลากเมาส์เพื่อหมุนภาพดูในมุมมองอื่นๆ)

—————————

ข้อมูลจาก :
www.nasa.gov
exoplanets.nasa.gov
news.mthai.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง