ไม้จันทน์หอม ไม้มงคลที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญ คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก!

เนื่องจากตอนนี้ “ไม้จันทน์หอม” เป็นไม้มงคลที่จะถูกนำไปใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9 ) และถูกใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ ตั้งแต่สมัยอดีต วันนี้แคมปัส-สตาร์ จึงขอนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องต้นไม้มงคล “ไม้จันทน์หอม” ซึ่งคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก อาจจะไม่ทราบว่า จันทน์หอม มีรูปร่าง หน้าตาเป็นอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ไปทำความรู้จักกันให้มากขึ้นจากบทความต่อไปนี้เลยค่ะ

ทำความรู้จัก! ไม้จันทน์หอม

ที่มาของ ไม้จันทน์หอม ในประเทศไทย

จันทน์หอม เป็นพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย

ชื่อเรียก ต้นจันทน์หอม

ไม้จันทน์หอม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Sandalwood ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Mansonia gagei J. R. Drumm. ex Prain เป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์ Sterculiaceae นอกจากนี้ไม้จันทน์หอมยังมีชื่อสามัญว่า Kalamet และยังมีชื่อเรียกไทยอื่นๆ ด้วย เช่น จันทน์ จันทน์ชะมด จันทน์ขาว และจันทน์พม่า

ลักษณะทางพฤกศาสตร์ของ ต้นจันทน์หอม

จันทน์หอมเป็นไม้ต้น ผลัดใบ ความสูง 10-20 เมตร เปลือกสีเทาแตกเป็นร่อง ลักษณะเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อน เป็นไม้เนื้อแข็ง

ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ติดเรียงสลับทรงใบรูปรีๆ แกมรูปขอบขนาน หรือรูปรีๆ แกมรูปไข่กลับ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 8-14 ซม. โคนใบตัดหรือหยักเว้าเข้าเล็กน้อย ปลายใบสอบแหลมทู่ๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา มีขนประปราย แต่พอใบแก่จะเกลี้ยง ใบแห้งออกสีเขียวอ่อนๆ เส้นใบออกจากจุดโคนใบ 3 เส้น เส้น แขนงใบมี 4-6 คู่ ขอบใบเป็นคลื่นห่างๆ ทางส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบ ก้านใบยาว 5-10 มม. มีขน ประปรายและจะออกสีคล้ำเมื่อใบแห้ง

ดอก ดอกเล็กสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้ๆ ปลายกิ่ง ช่อยาวประมาณ 15 ซม. โคนกลีบฐานดอกติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำ ปลายแยกเป็นแฉกแหลมๆ 5 แฉก ทั้ง หมดยาว 10-13 มม. มีขนแน่นทางด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบดอกมี 5 กลีบไม่ติดกัน ทรงกลีบ รูปซ้อนเกลี้ยง ยาว 10-13 มม. เกสรผู้มี 10 อัน และในจำนวนนี้จะเป็นเกสรผู้เทียมเสีย 5 อัน รังไข่มี 5 พู รวมเบียดกันอยู่เป็นรูปเหยือกน้ำมีขนคลุมแน่น แต่ละพูเป็นอิสระแก่กัน และต่างก็มีหลอดท่อรังไข่ หนึ่งหลอด ในแต่ละพูมีช่องเดียว และมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย

ผล ผลเป็นชนิดผลแห้ง มักติดเป็นคู่ๆ แต่ไม่ติดเป็นเนื้อเดียวกัน ผลมีรูปทรงเหมือนกระสวยเล็กๆ กว้าง 5-7 มม. และยาว 10-15 ซม. แต่ละผลมีปีกทรงรูปสามเหลี่ยมติดที่ปลายผลหนึ่งปีก ปีกกว้าง 1-15 ซม. ยาว 2.5-3 ซม. ก้านผลยาวประมาณ 5 มม.

นิเวศวิทยาของ ไม้จันทน์หอม

ไม้จันทน์หอมมีเขตการกระจายพันธุ์ที่อินเดีย พม่า และในไทย โดยไม้จันทน์หอมจะขึ้นในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ตามเขาหินปูน ส่วนมากพบทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-400 เมตร

ในอดีตเคยมีรายงานว่าในเมืองไทยมีจันทน์หอมขึ้นอยู่ทั่วไปทั้งในภาคตะวันออก และในภาคตะวันตกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันถูกตัดฟันไปจนเกือบหมด จนคนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักว่าจันทน์หอมมีรูปร่าง หน้าตาเป็นอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เพียงรู้จักกันก็เพราะเคยได้ยินชื่อเสียง หรือค้นหาเอามา จากตำรากันเท่านั้น
ซึ่งดร.ปิยะ ได้ระบุไว้ว่า “จันทน์หอมเป็นไม้ที่เติบโตได้ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างเร็ว ถ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และปลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไม้เศรษฐกิจ ใช้ ประโยชน์ในด้านไม้หอมและน้ำมันหอม อาจปลูกลงแปลงขนาดใหญ่เหมือนไม้กฤษณาที่แพร่หลาย ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัด นครปฐมอีกด้วย (http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/จันทน์หอม)

สรรพคุณ ไม้จันทน์หอม

ไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายจะมีกลิ่นหอมมาก ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป และไม้จันทน์หอมยังมีสรรพคุณทางสมุนไพร สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย ส่วนน้ำมันหอมที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้สามารถใช้ปรุงเครื่องหอม เครื่องสำอาง และใช้เป็นยาหอมบำรุงหัวใจก็ได้

ไม้ชั้นสูง ไม้จันทน์หอม 

ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เทคโนธานี แจกแจงถึงเรื่อง “ไม้จันทน์หอม” สรุปได้ว่า… คนโบราณถือว่า ไม้จันทน์หอม เป็นไม้ชั้นสูง เนื้อไม้มีกลิ่นหอม นิยมใช้ในพระราชพิธีต่างๆ พิธีสำคัญๆ ของราษฎรที่จัดเป็นวาระพิเศษ อย่าง “ดอกไม้จันทน์” ที่ใช้ในงานเผาศพ ในอดีตเกือบทั้งหมดจะทำจากไม้จันทน์หอม เพราะถือว่ามีสี ขาวบริสุทธิ์ และมีกลิ่นหอม เป็นการให้เกียรติกับผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย

เหตุผลที่ใช้ ไม้จันทน์หอม ในพระราชพิธี ในหลวง ร.9

เพราะว่า ไม้จันทน์หอมเป็นไม้มีค่าหายาก จึงจัดเป็นไม้มงคลชั้นสูง คนโบราณถือว่าประชาชนคนทั่วไปจะนำไปใช้ปลูกสร้างบ้านเรือนไม่ได้ มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า ไม้จันทน์หอม ถูกนำไปใช้ในงานพระราชพิธีนับตั้งแต่สมัยโบราณยุคพุทธกาล ในประเทศไทยใช้กันมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นสมัยอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์  จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ เนื้อไม้จันทน์หอมจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เนื้อไม้แข็ง มีความละเอียด จึงนิยมนำไม้จันทน์มาสร้างพระรองประดับพระโกศ พระบรมศพ รวมทั้งใช้ทำฟืนหรือ ดอกไม้จันทน์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงว่า ไม่ว่าไม้จันทน์หอมจะเป็นหรือตาย ก็ยังคงมีความหอม เปรียบเหมือนคนที่ตอนมีชีวิตอยู่นั้นได้ทำความดีไว้มากมาย แต่เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ความดีนั้นก็ยังคงอยู่ ขณะเดียวกัน ความหอมของไม้จันทน์ยังช่วยรักษาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็น เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีการฉีดยาเหมือนในปัจจุบัน

เนื่องจากไม้จันทน์หายากและมีราคาสูง ภายหลังกรมพระยาดำรงราชนุภาพได้คิดค้นให้ใช้ไม้จันทน์ทำเป็นแผ่นบางๆ มัดเป็นช่อเรียกว่า ดอกไม้จันทน์ เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานศพได้นำไปวางที่เผาศพ และได้นิยมใช้กันจนมาถึงทุกวันนี้

พิธีตัดไม้จันทน์หอม มาใช้ในพระราชพิธี ในหลวง ร.9

ไม้จันทน์หอมที่จะใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถูกคัดเลือกไว้ 4 ต้นด้วยกัน จากทั้งหมด 19 ต้น คือต้นไม้จันทน์หอมลำดับที่ 10, 11, 14 และ 15 ซึ่งได้รับการคัดเลือกจาก นายจำลอง ยิ่งนึก ผู้อำนวยการกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และนายฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหรพราหมณ์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฝ่ายปกครอง ตลอดจนหน่วยงานเกี่ยวข้อง และทุกต้นยืนต้นตายตามธรรมชาติ มีกลิ่นหอม ลักษณะต้นไม้เปลาตรง ขนาดความโตตั้งแต่ 142-203 เซนติเมตร และสูง 11-15 เมตร

โดยได้ทำพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย. เวลา 11.30 น. ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการตั้งเครื่องสังเวยเทพเทวาอารักษ์ ก่อนจะเริ่มพิธีตัดไม้จันทน์หอมจำนวน 12 ต้น จาก 19 ต้น  ได้คัดเลือกเอาไว้ ตามฤกษ์ช่วงเวลาระหว่าง 14.09-14.39 น. โดยที่บริเวณโต๊ะเครื่องสังเวยเริ่มพิธีด้วยการหลั่งน้ำเทพมนต์จากพระมหาสังข์ จากนั้น โหรหลวงลงแป้งเจิม ลั่นฆ้องชัยบัณเฑาะว์ โหรหลวงให้ประธานหลั่งน้ำเทพมนต์ที่ขวานทอง และเจิมต้นไม้จันทน์หอมใกล้โต๊ะสังเวยพร้อมปักธูปเทียน โดยใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที จากนั้นพรมน้ำเทพมนต์และใช้ขวานทองฟันที่ต้นไม้จันทน์หอม เป็นปฐมฤกษ์ 3 ครั้ง ประโคม และโปรยข้าวตอกดอกไม้ โดยดำเนินการตามขั้นตอนนี้ทั้ง 12 ต้นจนครบ

ขอบคุณที่มาข้อมูล และภาพจาก :: www.sahavicha.com, www.manager.co.th, park.dnp.go.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง