ไม่ได้มีแค่ในไทย ! 5 ประเทศอื่นๆ ที่มี วันลอยกระทง เช่นกัน

วันลอยกระทงในประเทศไทยจะมีขึ้นทุกปีในเดือนพฤศจิกายน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งในปีนี้ 2559 ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน สำหรับ ประวัติข้อปฏิบัติวันลอยกระทงน้องๆ คลิกอ่านที่นี่ เลยค่ะ แต่สำหรับในเนื้อหาบทความนี้พี่ขอนำเรื่องราวของ ประเทศอื่นๆ ที่มีเทศกาลวันลอยกระทง เหมือนในบ้านเรามาเล่าให้ฟัง จุดประสงค์ในการลอยกระทงของชาติอื่นๆ นั้นจะเหมือนหรือต่างจากบ้านเราหรือเปล่า มาอ่านไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

5 ประเทศอื่นๆ ที่มี วันลอยกระทง เช่นกัน

ลอยกระทงประเทศลาว

ลอยกระทง หรืองานไหลเฮือไฟ ตรงกับ ขึ้น 15ค่ำ เดือน 11 โดยในวันนี้จะมีประเพณีการแข่งเรือที่ริมแม่น้ำโขง บูชาแม่นํ้าด้วยการลอยประทีป และไหลเรือไฟ สำหรับชาวหลวงพระบางยังมีความเชื่อว่าอีกว่า เป็นการบูชาคุณแห่งแม่นํ้าโขงที่เลี้ยงดูมา และเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จกลับมาจากการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

loy krathong festival, thailand

ลอยกระทงประเทศพม่า

ลอยเพื่อบูชาพระอุปคุตที่อยู่กลางสะดือทะเลประเทศเมียนมาร์ มีตำนานว่าพระเจ้าอโศกมหาราชจะทรงสร้างพระเจดีย์ให้ครบ ๘๔.๐๐๐ แต่ถูกพระยามารขัดขวางคุกคามทำลายพระเจดีย์เหล่านั้น พระเจ้าธรรมาโศกราชจึงทรงขอร้องพระอุปคุต พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาค ให้ช่วยจับพระยามารด้วย พระอุปคุตจึงจัดการปราบปราบพระยามารจนสำเร็จ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 ราษฎรจึงทำพิธีลอยกระทงเพื่อขอบคุณพระยานาคสืบมาทุกๆ ปี

ลอยกระทงประเทศกัมพูชา

หรือเรียกว่า เทศกาลน้ำ เป็นเทศกาลที่คล้ายกับลอยกระทงในประเทศไทยเราค่ะ จัดขึ้นทุกปีตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ จนถึงแรม 1 ค่ำ เดือนพฤศจิกายน จัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณ และแสดงความขอบคุณต่อแม่น้ำโขง และทะเลสาบโตนเลสาบ ชาวกัมพูชาจะร่วมกันลอยทุ่นที่ประดับด้วยดวงไฟ ไปตามแม่น้ำโขง

ประเทศกัมพูชาจะมีการลอยกระทง 2 ครั้ง คือครั้งที่เป็นของราษฎร และครั้งที่เป็นของหลวง โดยในส่วนของราษฎรจะลอยกระทงกลางเดือน 11 นิยมทำกระทงเล็กๆ และบรรจุอาหารลงไปในกระทงด้วย และกลางเดือน 12 จะเป็นกระทงของหลวง ซึ่งเป็นกระทงใหญ่ (ราษฎรจะไม่ได้ทำ) ในกระทงจะมีอาหารบรรจุลงไปเช่นกัน จุดประสงค์การลอยกระทง เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป และเป็นการบูชา พร้อมทั้งขอขมาพระแม่คงคา ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำ “กระทง” ตกแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทงด้วย

ลอยกระทงประเทศอินเดีย

บรรยากาศของประเทศอินเดียในวันลอยกระทงจะมีความคึกคักมาก ที่นี่จะนิมยมใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือใบบัว หรืออะไรก็ได้ที่สามารถมาทำตัวกระทงเป็นรูปชาม เพื่อที่จะใส่น้ำมันลงไปภายในได้ นอกจากนี้ยังนิยมวางเชือกฝ้ายไว้ในน้ำมัน เพิ่มสีสัความสวยงามด้วยการประดับกลีบดอกไม้ลงไป เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นอันเสร็จสำหรับการทำกระทงไปลอยแล้วค่ะสำหรับชาวอินเดีย

ลอยกระทงประเทศจีน

ในประเทศจีน เป็นประเพณีเก่าแก่ของชนเผ่าฮั่น มองโกล ไป๋ และเหมียว การลอยกระทง มีความหมายถึง การไว้อาลัยผู้เสียชีวิต เริ่มมีขึ้นในมณฑลจี๋หลิน เนื่องจากมณฑลนี้มีแม่น้ำซงฮวาไหลผ่าน ถือเป็นเส้นทางการขนส่งทางน้ำตั้งแต่โบราณกาล ในสมัยราชวงศ์หมิง และชิง เรือที่ผลิตในมณฑลจี๋หลิน แล่นไปทางตอนใต้เพื่อลาดตระเวนเขตชายแดน และขนส่งธัญญาหารให้ทหารประจำเขตชายแดน การตัดไม้ ต่อเรือ และเดินเรือล้วนเป็นงานหนักและเสี่ยงภัย ผู้คนที่ประกอบงานด้านนี้มักได้รับบาดเจ็บ และมีผู้เสียชีวิตมากมายนับไม่ถ้วน แม่น้ำสายนี้จึงเปรียบเป็นสมุดบันทึกความโศกเศร้า ความสุข การเกิด การตาย และชะตากรรมของชาวจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง เมื่อถึงเทศกาลสำคัญๆ ชาวจี๋หลินก็จะพากันลอยกระทงตามแม่น้ำซงฮวาเพื่อเป็นการรำลึกถึง

จริงๆ แล้วในประเทศจีน การลอยกระทงไม่ได้จำกัดว่าต้องลอยในเทศกาลใด คือในเทศกาลต่างๆ ที่สำคัญจะนิยมมีประเพณีลอยกระทง และในแต่ละพื้นที่ก็จะมีความหมายในการลอยกระทงที่แตกต่างกันออกไปด้วย เช่น การลอยกระทงในเขตเจียงหนาน กระทงที่ลอยไปตามน้ำหมายความว่าให้โรคภัยไข้เจ็บหายลอยไปกับน้ำ ส่วนในเขตติดชายฝั่งทะเล การลอยกระทงหมายความว่าขอพรให้เทพเจ้าแห่งทะเลช่วยปกป้องคุ้มครองให้มีแต่ความสันติสุข

เรียบเรียงโดย Campus-Star.com

ขอบคุณที่มา:: thai.cri.cnwww.aeckids.com ภาพจาก:: www.chinadaily.com.cn

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง