เปิดประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา (รายชื่อ+ประวัติ+ผลงาน) 1

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นตำแหน่งประมุขในการปกครองของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าของทุกสาขาของรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐ โดยมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่เขียนโดยสภาคองเกรสมาตราที่ 2 ของรัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติว่า “ประธานาธิบดีต้องเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังทหาร และกระจายอำนาจที่เป็นของประธานาธิบดีออกไป รวมไปถึงอำนาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างกฎหมาย ที่ผ่านมาจากสภาคองเกรส”

รายนามประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (1)

นอกจากนั้น ประธานาธิบดียังมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นที่ปรึกษาและอำนาจในการลดโทษหรือให้รอลงอาญาได้ ท้ายที่สุดหากประธานาธิบดีได้รับคำแนะนำและการยอมรับจากวุฒิสภา แล้วจะมีอำนาจในการทำสนธิสัญญา แต่งตั้งเอกอัครราชทูตและศาลตัดสินของประเทศ รวมไปถึงศาลสูงสุดด้วย การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 22 กำหนดให้สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่เกินสองสมัย รายนามนี้รวมเฉพาะบุคคลที่ได้สาบานตนเป็นประธานาธิบดีตามการลงนามในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2332 และล่าสุดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ผลออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยชัยชนะเป็นของ “โดนัลด์ ทรัมป์” (ทำความรู้จัก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา) แต่ว่าตอนนี้เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปดูถึงอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงและสร้างผลงานให้ประเทศจะมีใครกันบ้างนั้น มาดูกันเลย…..

คนที่ 1 จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)

จอร์จ วอชิงตัน เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1732 เขาเป็นผู้นำทางทหารและการเมืองที่โดดเด่นของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น ระหว่าง ค.ศ. 1775 ถึง 1799 นอกจากนี้เขายังสามารถทำให้สหรัฐฯ ได้รับชัยชนะในสงครามปฏิวัติอเมริกัน ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพภาคพื้นทวีปใน ค.ศ.1775-1783 และรับผิดชอบการร่างรัฐธรรมนูญใน ค.ศ. 1787 เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1789 – 4 มีนาคม ค.ศ. 1797 วอชิงตันเป็นผู้นำการสร้างรัฐบาลแห่งชาติที่เข้มแข็งและมีการคลังที่ดี และยังได้รับการยกย่องทั่วไปว่าเป็น “บิดาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา” อีกด้วย

ด้วยผลงานอันอุทิศให้แก่ชาติบ้านเมือง วอชิงตันจึงได้รับ “เครื่องรัฐอิสริยาภรณ์เหรียญทองแห่งรัฐสภาคองเกรส” (Congressional Gold Medal) เป็นบุคคลแรก เขาถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1799 โดย เฮนรี ลี สดุดีวอชิงตันในพิธีศพว่า “ในยามรบ ยามสงบ และในหัวใจของเพื่อนร่วมชาติ เขาคือที่หนึ่งสำหรับอเมริกันชนทั้งปวง”

คนที่ 2 จอห์น แอดัมส์ (John Adams)

จอห์น แอดัมส์ เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1735 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา และเป็นบิดาของประธานาธิบดีคนที่ 6 ของสหรัฐอเมริกา ‘จอห์น ควินซี แอดัมส์’ จอห์นเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1797 ลงจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1801 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1826 เขาถือว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา

จอห์นเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ช่วงต้นของการปฏิวัติอเมริกา โดยเป็นผู้แทนจากรัฐแมสซาชูเซตส์และมีส่วนสำคัญในการผลักดันชักจูงสภาคองเกรสให้ประกาศอิสรภาพ เขาเป็นผู้มอบหมายงานร่างคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาแก่ทอมัส เจฟเฟอร์สัน ในปีค.ศ. 1776 และเนื่องจากแอดัมส์เป็นตัวแทนของสภาคองเกรสในยุโรป เขาจึงเป็นผู้เจรจาในสนธิสัญญาสงบศึกกับสหราชอาณาจักร และเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการกู้เงินจากนายธนาคารในอัมสเตอร์ดัม หนึ่งในบทบาทที่สำคัญของจอห์น แอดัมส์คือเป็นผู้ตัดสินใจด้านบุคลากร โดยในปี ค.ศ. 1775 เขาเป็นผู้เสนอชื่อจอร์จ วอชิงตันให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และในอีก 25 ปีต่อมา เขาเป็นผู้เสนอชื่อจอห์น มาร์แชลล์เป็นประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา

คนที่ 3 ทอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson)

ทอมัส เจฟเฟอร์สัน เกิดวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1743 เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1801 – วันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1809 และยังเป็นผู้ประพันธ์ “คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา” (Declaration of Independence) ของสหรัฐฯ เขาคือหนึ่งในบุคคลที่น่ายกย่องที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เพราะความสนใจของเขาไม่มีขอบเขตและการประสบความสำเร็จของเขายิ่งใหญ่และหลากหลาย เขาคือนักปราชญ์ นักการศึกษา นักธรรมชาตินิยม นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก ช่างประดิษฐ์ ผู้บุกเบิกในกสิกรรม วิทยาศาสตร์ นักดนตรี นักเขียน และเขาคือโฆษกชั้นแนวหน้าในการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในยุคของเขา

ในฐานะประธานาธิบดี เจฟเฟอร์สันทำให้อำนาจของรัฐบาลเข้มแข็ง เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและใช้อำนาจผ่านพรรคการเมืองในการควบคุมรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา และยังเป็น 1 ใน 4 ประธานาธิบดีสหรัฐที่รูปใบหน้าได้รับการสลักไว้ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ‘เมานต์รัชมอร์’ (Mount Rushmore) ใบหน้าของเขาปรากฏบนธนบัตรราคา 2 ดอลลาร์สหรัฐ และเหรียญนิกเกิล (5 เซนต์)

คนที่ 4 เจมส์ แมดิสัน (James Madison)

เจมส์ แมดิสัน เป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 แห่งสหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1751 และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1809 โดยเข้ารับตำแหน่งต่อจากทอมัส เจฟเฟอร์สัน และออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1817 ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1836 และยังเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา

คนที่ 5 เจมส์ มอนโร (James Monroe)

เจมส์ มอนโร เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 5 (พ.ศ. 2360 – พ.ศ. 2368) การบริหารงานของเขาโดดเด่นจากการได้รัฐฟลอริดา (พ.ศ. 2362) ข้อตกลงมิสซูรี (พ.ศ. 2363) ซึ่งรัฐมิสซูรีประกาศตนเป็นรัฐทาส, การเข้าร่วมสหพันธ์ของรัฐเมน ในปี พ.ศ. 2363 ฐานะรัฐอิสระและการประกาศวาทะมอนโรในปี พ.ศ. 2366 ประกาศให้สหรัฐฯ ไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับกิจการของยุโรป รวมทั้งการทำลายข้อผูกพันกับฝรั่งเศสซึ่งคงอยู่มาตั้งแต่สงครามปี พ.ศ. 2355

คนที่ 6 จอห์น ควินซี แอดัมส์ (John Quincy Adams)

จอห์น ควินซี แอดัมส์ เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1767 ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1825 และออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1829 จอห์น ควินซี แอดัมส์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848

คนที่ 7 แอนดรูว์ แจ็กสัน (Andrew Jackson)

แอนดรูว์ แจ็กสัน มีชื่อเล่นว่า ‘โอลด์ฮิกกอรี่’ (Old Hickory) รัฐบุรุษอเมริกันและประธานาธิบดีคนที่ 7 แห่งสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2372 – พ.ศ. 2380) เกิดที่เมืองแวกซ์ฮอว์ รัฐเซาท์แคโรไลนา จบการศึกษาด้านกฎหมายและได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาจากรัฐเทนเนสซี เมื่อ พ.ศ. 2339 และเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อ พ.ศ. 2340 ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2341 – พ.ศ. 2347 ได้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูง นอกจากนี้กอ่นหน้านี้ แอนดรูว์ แจ็กสันยังเคยเป็นนักค้าที่ดินและนักค้าทาสอยู่ระยะหนึ่งอีกด้วย

เหตุผลสำคัญที่ทำให้แอนดรูว์ แจ็กสันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเนื่องมาจากการได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาแบบใหม่ที่เรียกกันภายหลังว่า ‘ประชาธิปไตยแจ็กสัน’ (Jacksonian democracy) แอนดรูว์ แจ็กสันมีอิทธิพลและเป็นศูนย์กลางของวงการเมืองอเมริกันระหว่าง พ.ศ. 2363 – พ.ศ. 2372

คนที่ 8 มาร์ติน แวน บิวเรน (Martin Van Buren)

มาร์ติน แวน บิวเรน เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1782 ที่เมืองคินเดอร์ฮุก รัฐนิวยอร์ก เป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1837 จนกระทั่งถึงวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1841 สืบต่อจากประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน โดยมีริชาร์ด เมนทอร์ จอห์นสันเป็นรองประธานาธิบดี และมาร์ติน แวน บิวเรน ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1862 ที่เมืองคินเดอร์ฮุก

คนที่ 9 วิลเลียม เอช. แฮร์ริสัน (William H. Harrison)

วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน เป็นทหารอเมริกัน นักการเมือง และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 9 และยังเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถึงแก่อสัญกรรมในขณะที่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง เป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดที่ได้รับเลือกตั้ง และเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายที่เกิดก่อนสงครามประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา แฮริสันถึงแก่อสัญกรรมในหลังจากที่เป็นประธานาธิบดีเพียง 32 วัน และเป็นประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งระยะเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมอย่างกะทันหัน และคำพูดสุดท้ายของเขาคือ ‘ข้าพเจ้าไม่ขออะไรมากไปกว่าให้คุณเข้าใจหน้าที่หลักอันแท้จริงของรัฐบาล’

คนที่ 10 จอห์น ไทเลอร์ (John Tyler)

จอห์น ไทเลอร์ จูเนียร์ เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1790 ที่เมืองชาร์ลส์ ซิตี้ เคาน์ตี้ รัฐเวอร์จิเนีย และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1841 ถึงวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1845 ในช่วงที่เขาดำรงประธานาธิบดีได้เกิดความแตกแยกในระหว่างนักการเมืองทำให้นโยบายการบริหารงานภายในประเทศของเทย์เลอร์ประสบความสำเร็จน้อยมาก และมีความยุ่งยากมาก เทย์เลอร์มักจะใช้สิทธิยับยั้งร่างกฎหมายบางฉบับที่เสนอเข้าสู่สภาโดยวุฒิสมาชิกเคลย์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1841 วิกส์ได้ขับไล่เทย์เลอร์ออกจากสมาชิกของพรรค เทย์เลอร์จึงเป็นประธานาธิบดีคนเดียวของสหรัฐฯ ที่ถูกขับออกจากพรรค เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1845 เทย์เลอร์สามารถรวมเท็กซัสเข้าเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของเขาก็ว่าได้

คนที่ 11 เจมส์ เค. โพล์ก (James K. Polk)

เจมส์ น็อกซ์ โพล์ก เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 11 (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1845 – 4 มีนาคม ค.ศ. 1849) เขาได้ทำหน้าที่บริหารของเขาอย่างดีที่สุดและขอร้องให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งใดๆ และ 4 ปีต่อมาโพล์กตัดสินใจขอซื้อมลรัฐแคลิฟอร์เนียจากประเทศเม็กซิโกในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1845 เม็กซิโกตัดสัมพันธภาพกับสหรัฐฯ รวมทั้งการกำหนดพรมแดนทำให้การเจรจาซื้อแคลิฟอร์เนียล้มเหลว ปี ค.ศ. 1847 นายพลวิมพิกส์ ยึดกรุงเม็กซิโกซิตี้ได้ทำให้สงครามสิ้นสุดอย่างสิ้นเชิง สหรัฐฯ ได้รับดินแดนเพิ่มเติมคืนมาคือ เนวาดา แอร์โชน่ายูทา และโคโรลาโด โพล์กประสบความสำเร็จด้วยความช่วยเหลือจากนายพลซาซซารี่ เทเลอร์ วีรบุรุษจากสงครามเม็กซิกัน การบริหารงานของโพล์กอาจเป็นเสมือนหนึ่งจะทำให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีความเท่าเทียมกับประเทศทางยุโรป

คนที่ 12 แซคารี เทย์เลอร์ (Zachary Taylor)

แซคารี เทย์เลอร์ เป็นประธานาธิบดีที่ 12 ของสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2392 – 2393 และเป็นผู้นำกองทัพอเมริกัน ในช่วงแรกไม่ได้สนใจการเมือง เขาเป็นผู้นำกองทัพสหรัฐเข้ารบจนได้ชัยชนะในยุทธการปาโลอัลโตและยุทธการมอนเทอร์เรย์ระหว่างสงครามสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก เขาเสียชีวิตใน พ.ศ. 2393 หลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียง 16 เดือน

คนที่ 13 มิลลาร์ด ฟิลล์มอร์ (Millard Fillmore)

มิลลาร์ด ฟิลล์มอร์ ประธานาธิบดีคนที่ 13 แห่งสหรัฐฯ เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1800 เป็นสมาชิกพรรควิกคนสุดท้ายที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1874 (ขณะอายุได้ 74 ปี) ฟิลมอร์ได้เปิดการค้ากับประเทศญี่ปุ่น และยังได้พาประเทศให้รอดพ้นจากสงครามกลางเมืองมาได้ถึง 10 ปีด้วยกัน และการค้าทาสก็สิ้นสุดลงในรัฐโคลัมเบีย ฟิลมอร์ได้พยายามผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับทาส ซึ่งเขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มวิกทางใต้ แต่เป็นปฏิปักษ์กับทางเหนือ ทำให้เขาต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งในครั้งต่อมา

คนที่ 14 แฟรงกลิน เพียร์ซ (Franklin Pierce)

แฟรงกลิน เพียร์ซ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 14 ของสหรัฐอเมริกา มาจากพรรคเดโมแครต เกิดเมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1804 ที่ฮิลส์โบโร่ นิวแฮมป์เชียร์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1853 ถึง 4 มีนาคม ค.ศ. 1857 ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869ขณะอายุได้ 65 ปี

การต่อต้านการค้าทาส เพียร์ซหวังว่าเมื่อร่างพระราชบัญญัติประกาศใช้แล้วการต่อต้านก็จะหมดไป

พระราชบัญญัติเสนอให้สร้างขอบเขตขึ้นมา 2 เขตคือ แคนซัส และ เนบราสกา แล้วให้ผู้อาศัยพิจารณาเอาเองว่า จะยอมให้เขตใดยอมให้มีการค้าทาสต่อไป ผู้มีความเห็นไม่ตรงกันในพรรคเดโมแครตจึงแยกเป็น 2 พวกคือ พวกทางเหนือและพวกทางใต้และจากการแตกแยกนี้เองทำให้เกิดพรรครีพับลิกันขึ้น พระราชบัญญัติเรื่องทาสได้ประกาศให้เป็นกฎหมายเมื่อปี 1854

คนที่ 15 เจมส์ บูแคนัน (James Buchanan)

เจมส์ บูแคนัน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 15 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาคนที่ 17 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเพนซิลเวเนีย การบริหารงานของบูแคนันในฐานะประธานาธิบดีประสบความสำเร็จในด้านสังคมเป็นอย่างมาก แต่สถานการณ์ทางด้านการเมืองก็แย่ลงทุกที หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วัน ศาลสูงสุดก็เสนอเรื่องนิโกร เดรด สก๊อต ให้เขาพิจารณา บูแคนันมีความคิดว่าการค้าทาสนั้นไม่ใช่เรื่องถูกต้องและเขาก็หวังว่า นิโกร เดรด สก๊อต จะทำให้สถานการณ์สงบลงได้ แต่อเมริกาเหนือก็ปฏิเสธผลการพิจารณาของศาลสูงสุด ดังนั้นชาวอเมริกาฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้จึงเหมือนกับถูกแยกให้ห่างกันออกไปทุกที

คนที่ 16 อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln)

อับราฮัม ลินคอล์น เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1809 ลินคอล์นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.1861 จนกระทั่งเขาถูกลอบสังหารเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 เขาประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศผ่านพ้นสงครามกลางเมืองอเมริกา ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญ ทางทหารและศีลธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยรักษาไว้ซึ่งสหภาพ ขณะที่เลิกทาส และส่งเสริมการทำให้เศรษฐกิจและการเงินทันสมัย

คนที่ 17 แอนดรูว์ จอห์นสัน (Andrew Johnson)

แอนดรูว์ จอห์สัน เกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1808 เมื่อประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ถูกลอบสังหาร สงครามกลางเมืองกำลังจะสิ้นสุดลง เขาถูกเรียกตัวอย่างกะทันหัน โดยมีท่านอับราฮัม ลินคอล์นมาเรียกตัวในความฝัน และไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเพื่อมารับตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อมาจัดการปัญหาที่สลับซับซ้อนมากที่สุด ปัญหานี้คือจะจัดการกับฝ่ายใต้ซึ่งเป็นฝ่ายปราชัยอย่างไร และจะรวมประเทศซึ่งแบ่งแยกกันด้วยสงครามเป็นเวลาถึง 4 ปีอย่างไร จอห์นสันพยายามอย่างหนักที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ให้ลุล่วง แต่เขาไม่สามารถจะลดความขมขื่นระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ และนำกิจการของประเทศกลับสู่ภาวะปกติ เขาเป็นชายผู้กล้าหาญและมีความตั้งใจดี แต่เขาไม่ทราบวิธีและการทำงานร่วมกับผู้อื่น เขาจึงไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นประธานาธิบดีสักเท่าไหร่

คนที่ 18 ยูลิสซีส เอส. แกรนต์ (Ulysses S. Grant)

ยูลิสซีส ซิมป์สัน แกรนต์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1822 เดิมแกรนต์มีชื่อว่า ‘ไฮรัม ยูลิสซีส แกรนต์’ เขาได้เป็นประธานาธิบดีในนามของพรรครีพับลิกัน ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม ค.ศ. 1869 เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนครบ 2 วาระในปี ค.ศ. 1877 ก่อนที่แกรนต์จะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1885 (ด้วยวัย 63 ปี) นอกจากนี้แกรนต์ยังเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนแรกที่เดินทางไปเยือนสยาม (ประเทศไทยในปัจจุบัน) เมื่อ ค.ศ. 1879 ในสมัยของรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

คนที่ 19 รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ (Rutherford B. Hayes)

รัทเทอร์ฟอร์ด เบอร์ชาร์ด เฮส์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 19 ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1877 ถึง ปี ค.ศ. 1881 (สังกัดพรรครีพับลิกัน) ในฐานะประธานาธิบดี มรสุมทางการเมืองได้สร้างความยุ่งยากให้กับเขาเป็นอย่างมาก เฮส์ได้ประกาศนโยบาย ‘ทรู แรดดิคัล คอมพลีท’ ความดีและความพยายามของเฮส์นำความไม่พอใจมาสู่สมาชิกของพรรครีพับลิกันบางคน เขาแตกแยกกับวุฒิสมาชิก รอสโซ คอนลิงก์ จากนิวยอร์ก ทำให้เขาถูขับออกจากพรรคในช่วงท้ายของการบริหาร ส่วนสำคัญที่สุดของการบริหารงานของเฮส์คือ การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ปรับปรุงรัฐทางใต้ เขายังมีส่วนทำให้ตำแหน่งประธานาธิบดีมีความเป็นเอกเทศไม่เหมือนกับยุคของแอนดรู จอห์นสัน และแกรนท์

คนที่ 20 เจมส์ อับรัม การ์ฟีลด์ (James Abram Garfield)

เจมส์ อับรัม การ์ฟีลด์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 20 ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1881 ถึง วันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1881 ในสังกัดพรรครีพับลิกัน เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1881 ซึ่งในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่รุนแรง คือ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จำนวนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าฉ้อฉลรัฐบาล เกี่ยวกับเส้นทางไปรษณีย์ทางตะวันตก การฉ้อโกงนี้เป็นการฉ้อโกงที่เรียกกันว่า ‘Star Route’ บุคคลดังกล่าวถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อสอบสวน

แต่ก่อนที่กรณีนี้จะดำเนินต่อไปประเทศก็ต้องตื่นตระหนกกับข่าวการลอบสังหารประธานาธิบดี เช้าวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1881 การ์ฟิลด์พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศ เบลน เตรียมจะออกจากวอชิงตันเพื่อไปเยือนวิทยาลัยวิลเลียมส์ ขณะที่ บุคคลทั้งสองกำลังรออยู่ที่สถานีรถไฟวอชิงตัน ดี.ซี ชาร์ล เจ. กุยเตอร์ เข้าไปใกล้ตัวการ์ฟิลด์จากด้านหลังและยิงเขาสองครั้ง แล้วร้องว่า ‘ตอนนี้ อาร์เธอร์เป็นประธานาธิบดี’ กุยเตอร์ ถูกจับกุมด้วยข้อหาพยายามฆาตกรรม และถูกแขวนคอ ถึงแม้ว่าประชาชนจำนวนมากคิดว่าเขาสติฟั่นเฟือน และการ์ฟิลด์ถึงแก่อสัญกรรมหลังจากทรมานจากการถูกยิงเป็นเวลากว่า 2 เดือน

คนที่ 21 เชสเตอร์ เอ. อาเธอร์ (Chester A. Arthur)

เชสเตอร์ เอ. อาเทอร์ เป็นนักการเมืองชาวอเมริกัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 21 อาร์เธอร์ต่อต้านระบบทาส เขาเห็นใจทาสนิโกร และมีส่วนร่วมการป้องกันทาส 2 คดี คดีหนึ่งเกี่ยวกับการแบ่งแยกผิว เหตุเกิดเมื่อ ลิชชี เจนนิ่ง ไม่สามารถซื้อตั๋วรถรางในนิวยอร์กเพราะว่าเธอผิวดำ อาร์เธอร์เรียกค่าเสียหายให้เธอได้ 500 ดอลลาร์ และศาลได้ตัดสินให้คนผิวดำมีสิทธินั่งรถรางในนครนิวยอร์กได้เหมือนคนผิวขาว ต่อมา ค.ศ.1883 อาร์เธอร์ลงนามในพระราชบัญญัติเพนเคิลตัน ที่ช่วยให้งานของรัฐหลายพันตำแหน่งพ้นจากมือนักการเมือง กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้สมัครงานของรัฐต้องผ่านการทดสอบก่อนจะบรรจุ ‘กฎหมายเพนเคิลตัน’ เป็นจุดเริ่มต้นของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนของอเมริกาในปัจจุบัน

คนที่ 22 สตีเฟน โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Stephen Grover Cleveland)

สตีเฟน โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 22 และ 24 เป็นประธานาธิบดีคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งใน 2 วาระไม่ติดต่อกัน (ค.ศ. 1885–1889 และ 1893–1897) เขาชนะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรวม 2 ครั้ง คือในปี ค.ศ. 1884 และ 1892 แต่พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1888 (แต่ชนะ Popular Vote) ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในยุคที่รีพับลิกันครอบครองการเมืองอย่างยาวนานระหว่างปี 1860 ถึง 1912

——————————————

มาอ่านกันต่อเลย >> เปิดประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา (รายชื่อ+ประวัติ+ผลงาน)  2 

ข้อมูลและภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง