วันทยาหัตถ์ 1 กรกฎาคม วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

วันทยาหัตถ์!! ใครที่เคยเรียนลูกเสือ เนตรนารี ทุกคนต้องเคยได้ยินคำสั่งนี้แน่นอน และเนื่องในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับ วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ ของไทย ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของไทย วันนี้เราจึงมีประวัติความเป็นมาการ กำเนิดลูกเสือโลก และจุดเริ่มต้นของ ลูกเสือในประเทศไทย สรุปเหตุการณ์สำคัญๆ วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ มาให้ได้อ่านกัน เพื่อระลึกถึงความสำคัญของผู้ที่ได้ก่อตั้งวันสำคัญนี้ขึ้นมาค่ะ..

วันทยาหัตถ์ 1 กรกฎาคม วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

กำเนิดลูกเสือโลก และประวัติศาสตร์การลูกเสือไทย

ภาพจาก: www.pinterest.com/enigma13/lord-baden-powell-of-gilwell/

การลูกเสือเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรกในโลก เมื่อ พ.ศ.2451 โดยพลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell) หรือ B-P สาเหตุที่ตั้งกองลูกเสือขึ้นมาคือ ท่านได้รับราชการทหาร โดยไปรักษาการเมืองมาฟฟิคิง (Mafiking) อันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสหภาพแอฟริกาใต้ ขณะนั้นเกิดสงครามขึ้นกับพวกบัวร์ (Boer) ต้องผจญกับสงครามใหญ่ ท่านจึงได้ฝึกเด็กขึ้นหน่วยหนึ่่ง เพื่อช่วยราชการสงคราม เช่น เป็นผู้สื่อข่าว สอดแนม รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน รับใช้ในการงานต่างๆ เช่น ทำครัวเป็นต้น ปรากฎว่าได้ผลดีมาก เพราะเด็กที่ได้รับการฝึกเหล่านั้นสามารถปฎิบัติหน้าที่ที่ใช้รับมอบหมายได้อย่างเข้มแข็งว่องไว ได้ผลดีไม่แพ้ผู้ใหญ่ และบางอย่างกลับทำได้ดีกว่าผู้ใหญ่ด้วย

เมื่อท่านกลับจากราชการสงครามเมืองมาฟฟิคิงแล้ว ท่านได้ร่างโครงการอบรมเด็กขึ้น มีหลักการคล้ายลูกเสือในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ท่านได้ทดลองตั้ง Boy Scout ขึ้นเป็นกองแรกที่ เกาะบราวน์ซี ไอแลนด์ (Brown Sea Island )โดยเกลี้ยกล่อมเด็กที่เที่ยวเตร่อยู่ในที่ต่างๆ มาอบรมแล้วท่านได้คอยคุมการฝึกตามโครงการด้วยตนเอง และได้ผลดีสมความมุ่งหมายทุกประการจึงทำให้เกิดความบันดาลใจ ในอันที่จะขยายกิจการให้กว้างขวางออกไปในวันข้างหน้า

เมื่อกิจการลูกเสือแพร่หลายขึ้น ในปี พ.ศ. 2451 ท่านลอร์ด บาเดน เพาเวลล์ จึงได้แต่งหนังสือฝึกอบรมลูกเสือขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน โดยหนังสือเล่มดังกล่าวมีชื่อว่า “Scouting For Boys” และคำว่า “Scout” ซึ่งใช้เรียกแทน “ลูกเสือ” มีความหมายตามตัวอักษร ดังนี้คือ

S : Sincerity หมายถึง ความจริงใจ มีน้ำใสใจจริงต่อกัน
C : Courtesy หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้มีมารยาทดี
O : Obedience หมายถึง การเชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในโอวาท
U : Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้รักสามัคคี
T : Thrifty หมายถึง ความมัธยัสถ์ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

พอถึงปี พ.ศ. 2455 รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศรับรองฐานะของลูกเสืออังกฤษเป็นทางการพร้อมกับออกกฎหมายคุ้มครองให้ด้วย จากนั้นการลูกเสืออังกฤษก็เจริญแพร่หายออกไปเป็นลำดับมา

ภาพจาก: https://www.pinterest.com/pin/573505333771537386/

คติพจน์ที่ท่านลอร์ดบาเดนเพาเวลล์ ได้ให้ไว้แก่ลูกเสือ ก็คือ BE PREPARED (จงเตรียมพร้อม)

ต่อมา พลโท โรเบิร์ต เบเดน โพเอลล์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น บารอน ซึ่งบรรดาศักดิ์นี้พระราชทานโดยพระเจ้ายอร์จ ที่ 5 ในปี พ.ศ. 2472 ทำให้เขาเป็นสมาชิกสภาขุนนาง ซึ่งตามประเพณีของอังกฤษผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่บารอนขึ้นไป จะต้องมีชื่อสถานที่ต่อท้าย ซึ่งเขาเลือกเอา กิลเวลล์ (Gil Well Park) ที่เป็นชื่อของศนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติ ทำให้เขาได้ชื่อตามบรรดาศกดิ์ว่า บารอน เบเดน โพเอลล์ แห่ง กิลเวลล์ แต่คนทั่วไปมักนิยมเรียก ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ ในการชุมนุม Scout ครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. 2463 ที่ประชุมผู้แทน Scout จากประเทศต่างๆ ก็ประกาศให้เขาเป็นประมุขของ Scout ตลอดกาล และทุกคนเรียกท่านอย่างย่อๆว่า B-P

วันทยาหัตถ์ 1 กรกฎาคม วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

ภาพจาก: http://scoop.mthai.com

ประวัติศาสตร์การลูกเสือไทย

กิจการลูกเสือเข้ามาเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยทรงมีพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากองลูกเสือป่าขึ้น ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 เพื่อฝึกอบรมข้าราชการพลเรือน ให้เรียนรู้วิชาการด้านการทหาร ไว้สำรองยามเกิดศึกสงคราม และช่วยบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งยังมีไว้ช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย ยามจำเป็น พระองค์ทรงมองเห็นว่ากองกิจการลูกเสือนั้นจะช่วยให้คนไทยรักชาติ มีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคีและมีความกตัญญู

ภาพจาก: https://banwai.files.wordpress.com/2012/08/015-tiger1.jpg

จนต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มองเห็นถึงความมั่นคงของกิจการลูกเสือ จึงได้มีพระบรมราชโองการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่มีการจัดตั้งกองลูกเสือโลกขึ้น โดยลูกเสือไทยคนแรกนั้นชื่อ “นายชัพพ์ บุนนาค” เป็นลูกเสือคนแรกของไทย และของเอเชียด้วย

ลูกเสือกองแรกของประเทศไทย

หลังจากได้มีการประกาศเป็นกองลูกเสือโลก เป็นประเทศที่ 3 แล้ว ได้มีการตั้งลูกเสือกองแรกของประเทศไทย ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เรียกกองลูกเสือนั้นว่า “ลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1” ก่อนที่จะขยายตัวไปยังโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ และองค์รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานคติพจน์เพื่อใช้ในการประจำการของลูกเสือว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์”

ขอสรุป ลำดับเหตุการณ์ของประวัติกิจการลูกเสือไทย ดังต่อไปนี้เลยค่ะ

พุทธศักราช 2454 (ค.ศ. 1911)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454

พุทธศักราช 2463 (ค.ศ. 1920)
ส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 ณ ประเทศอังกฤษ

พุทธศักราช 2465 (ค.ศ. 1922)
คณะลูกเสือแห่งชาติ เข้าเป็นสมาชิกสมัชชาลูกเสือโลก

พุทธศักราช 2467 (ค.ศ. 1924)
ส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 2 ณ ประเทศเดนมาร์ก

พุทธศักราช 2470 (ค.ศ. 1927)
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 1 (1st National Jamboree) ณ พระราชอุทยานสราญรมย์
26 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2470 จำนวนลูกเสือไทยทั้งสิ้น 1,836

พุทธศักราช 2473
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 2 (2st National Jamboree) ณ พระราชอุทยานสราญรมย์
1-7 มกราคม 2473 จำนวนลูกเสือไทย 1,955 คน ลูกเสือต่างประเทศ 22 คน

พุทธศักราช 2478
กำเนิดตราประจำคณะลูกเสือแห่งชาติ

พุทธศักราช 2497
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 3 (3st National Jamboree) ณ กรีฑาสถานแห่งชาติพระนคร
20-26 พฤศจิกายน 2497 จำนวนลูกเสือไทย 5,155 คน

พุทธศักราช 2499 (ค.ศ. 1956)
เป็นสมาชิกของสำนักงานลูกเสือภาคตะวันออกไกล ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้น ขณะนั้นมีประเทศสมาชิกอยู่ 10 ประเทศ

พุทธศักราช 2504 (ค.ศ. 1961)
เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีลูกเสือไทย
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 4 ณ สวนลุมพินี พระนคร
19-25 พฤจิกายน 2504 จำนวนลูกเสือไทย 5,539 คน ลูกเสือต่างประเทศ 348 คน

พุทธศักราช 2505 (ค.ศ. 1962)
เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บังคับบัญชาลูกเสือภาคพื้นตะวันออกไกล ครั้งที่ 3 (3rd Far East Scout Conference) ณ ศาลาสันติธรรม

พุทธศักราช 2508 (ค.ศ. 1965)
จัดงานประชุมสภาลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 1 (1st National Scout Conference)
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 5 (5st National Jamboree) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
9-15 ธันวาคม 2508 จำนวนลูกเสือไทย 5,736 คน ลูกเสือต่างประเทศ 431 คน

การแต่งกายด้วยเครื่องแบบลูกเสือสมัยก่อน ภาพจาก:www.bloggang.com

พุทธศักราช 2512 (ค.ศ. 1969)
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 6 (6st National Jamboree) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
11-17 ธันวาคม 2512 จำนวนลูกเสือไทย 5,000 คน ลูกเสือต่างประเทศ 582 คน

พุทธศักราช 2514 (ค.ศ. 1971)
เฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีการลูกเสือไทย
ทดลองเปิดอบรมลูกเสือชาวบ้านครั้งแรก ณ บ้านเหล่ากอหก กิ่งอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 7 (7st National Jamboree) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
28-30 มิถุนายน 2514 จำนวนลูกเสือไทย 1,667 ลูกเสือต่างประเทศไม่ได้เข้าร่วม

พุทธศักราช 2516 (ค.ศ. 1973)
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 8 (8st National Jamboree) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
23-30 พฤศจิกายน 2516 จำนวนลูกเสือไทย 4,968 คน ลูกเสือต่างประเทศ 256 คน

พุทธศักราช 2520 (ค.ศ. 1977)
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 9 (9st National Jamboree) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
21-27 พฤศจิกายน 2520 จำนวนลูกเสือไทย 10,827 คน ลูกเสือต่างประเทศ 159 คน

พุทธศักราช 2523 (ค.ศ. 1980)
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 10 (10st National Jamboree) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
28 ธ.ค. 2523 – 3 ม.ค. 2524 จำนวนลูกเสือไทย 12,692 คน ลูกเสือต่างประเทศ 108 คน

พุทธศักราช 2528 (ค.ศ. 1985)
เป็นเจ้าภาพจัดงานชุมนุมลูกเสือภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 9
งานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 11 (11st National Jamboree) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
21-27 พฤศจิกายน 2528 จำนวนลูกเสือไทย 5,336 คน ลูกเสือต่างประเทศ 391 คน

พุทธศักราช 2529 (ค.ศ. 1986)
เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาลูกเสือภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 15

พุทธศักราช 2532 (ค.ศ. 1989)
งานชุมนุมลูกเสือครั้งที่ 12 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
21-27 พฤศิกายน 2532 จำนวนลูกเสือไทย 9,330 คน ลูกเสือต่างประเทศ 422 คน

พุทธศักราช 2534 (ค.ศ. 1991)
จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง 80 ปีลูกเสือไทย
งานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 13 (13st National Jamboree) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
1-7 กรกฎาคม 2534 จำนวนลูกเสือไทย 10,022 คน ลูกเสือต่างประเทศ 357 คน

พุทธศักราช 2536 (ค.ศ. 1993)
เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาลูกเสือโลก ครั้งที่ 33 ที่กรุงเทพ (33rd World Scout Conference)
งานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 14 (14st National Jamboree) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
22-28 พฤศจิกายน 2536 จำนวนลูกเสือไทย 10,263 คน ลูกเสือต่างประเทศ 357 คน

พุทธศักราช 2540 (ค.ศ. 1997)
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 15 (15st National Jamboree) ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
21-27 พฤศิกายน 2540 จำนวนลูกเสือไทย 11,274 คน ลูกเสือต่างประเทศ 160 คน

พุทธศักราช 2544 (ค.ศ. 2001)
เฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปีลูกเสือไทย
เตรียมการ การจัดงานชุมนุมลูกเสือโลก
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ณ หาดยาว จ.ชลบุรี
28 ธ.ค. 2544 – 4 ม.ค. 2545

พุทธศักราช 2546 (ค.ศ. 2003)
เป็นเจ้าภาพจัดงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 20 (20th World Scout Jamboree)

พุทธศักราช 2548 (ค.ศ. 2005)
จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 17 (17st National Jamboree) ณ หาดยาว จ.ชลบุรี
25-31 กรกฎาคม 2548
เป็นเจ้าภาพจัดงานชุมนุมลูกเสือภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 25 (25th Asia – Pacific Regional Scout Jamboree)

พุทธศักราช 2552 (ค.ศ. 2009)
จัดงานชุมนุมลุกเสือแห่งชาติครั้งที่ 18 ณ ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ จ.ตรัง
25-30 เมษายน 2552

พุทธศักราช 2554 (ค.ศ. 2011)
เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการลูกเสือไทย

ภาพจาก:http://www.acep.ac.th

การแต่งกายชุดลูกเสือในปัจจุบัน

ประเภทของลูกเสือไทย แบ่งได้ประมาณ 5 ประเภท ต่อไปนี้

– ลูกเสือสำรอง : อายุตั้งแต่ 7-10 ปี เทียบเท่าชั้นเรียน ป.1 – ป.4 โดยมีคติพจน์คือ ทำดีที่สุด
– ลูกเสือสามัญ : อายุตั้งแต่ 11-12 ปี เทียบเท่าชั้นเรียน ป.5 – ป.6 โดยมีคติพจน์คือ จงเตรียมพร้อม
– ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ : อายุตั้งแต่ 13-15 ปี เทียบเท่าชั้นเรียน ม.1 – ม.3 โดยมีคติพจน์คือ มองไกล
– ลูกเสือวิสามัญ : อายุตั้งแต่ 16 – 18 ปี เทียบชั้นเรียน ม.4 – ม.6 โดยมีคติพจน์คือ บริการ
– ลูกเสือชาวบ้าน : อายุตั้งแต่ 15 – 18 ปี มีคติพจน์คือ เสียชีพอย่าเสียสัตย์
สำหรับเนตรนารี จะมีรูปแบบประเภทเหมือนกัน แตกต่างกันที่ชื่อเรียก

คำปฏิญาณของลูกเสือไทย

“ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า”
ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

กฏของลูกเสือ 10 ข้อ ได้แก่

ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก
ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
ข้อ 6 ลูกเสือมีความเตตากรุณาต่อสัตว์
ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ

เนื้อเพลงราชสดุดีลูกเสือ

ข้าลูกเสือเชื้อไทยใจเคารพ ขอน้อมนบบาทบงสุ์พระทรงศรี พระบาทมงกุฎเกล้าฯ จอมเมาลี ทรงปรานีก่อเกื้อลูกเสือมา ทรงอุตส่าห์อบรมบ่มนิสัย ให้มีใจรักชาติศาสนา ทรงสั่งสอนสรรพกิจวิทยา เป็นอาภาผ่องพุทธิ์วุฒิไกร ดังดวงจันทราทิตย์ประสิทธิ์แสง กระจ่างแจ้งแจ่มภพสบสมัย พระคุณนี้จะสถิตสนิทใน ดวงหทัยทวยราษฎร์ไม่คลาดเอย

ที่มาข้อมูลจาก:www.scoutthailand.org

ข่าวที่เกี่ยวข้อง