หลักเกณฑ์น่ารู้ กฎหมายส่งตัว “ผู้ร้ายข้ามแดน” – ประสานยังไง มีข้อจำกัดอะไรบ้าง?

จากกรณีที่พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ เป็นโจทย์ยื่นคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน นายฮาคีม อัล-อาไรบี อดีตนักฟุตบอลอาชีพ (เป็นจำเลย) เพื่อขอดำเนินการส่งตัวนายฮาคีมกลับไปดำเนินคดีต่อที่ประเทศบาห์เรน ตามคำร้องขอจากทางการบาห์เรนที่ได้ส่งมายังทางการไทย ทั้งนี้นายฮาคีมได้การรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากประเทศออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา

กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน มีข้อจำกัดอะไรบ้าง?

ในขณะที่คนในวงการฟุตบอลจำนวนมากก็ได้ทำการติดแฮชแท็ก #Savehakeem เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดการปล่อยตัวนายฮาคีมให้เป็นอิสระ นอกจากนี้ก็ยังเกิดเป็นแฮชแท็ก #saveThailand ขึ้นมาอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างปัญหานี้ เพราะว่าเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นายฮาคีมได้เดินทางจากออสเตรเลียมายังประเทศไทย เพื่อรฮันนีมูนกับภรรยา แต่ปรากฏว่ารายชื่อของเขาได้ติดอยู่ในหมายแดงของอินเตอร์โพล ทำให้ไทยจำเป็นที่จะต้องทำการจับกุมนายฮาคีมเอาไว้ที่สนามบินบินสุวรรณภูมิ

ซึ่งในเวลาต่อมามีการระบุว่า อินเตอร์โพลทำผิดพลาดที่ใส่ลิสต์ชื่อของฮาคีมไว้ในหมายแดง เพราะตามกฎแล้วคนที่ขอลี้ภัยทางการเมืองจะไม่สามารถติดลิสต์หมายแดงได้ โดยทางอินเตอร์โพลได้ยกเลิกหมายแดงของฮาคีม แต่ก็สายเกินไปแล้ว เพราะไทยได้จับกุมนายฮาคีมไว้ และประเทศบาห์เรนก็รู้เรื่องนี้แล้ว

ทำให้บาห์เรนเรียกร้องให้ไทยส่งตัวนายฮาคีมกลับไปดำเนินคดีต่อที่บาห์เรน แต่ทั้งนี้ออสเตรเลียก็ได้รับรองสถานะให้กับนายฮาคีมแล้วว่า เป็นผู้ลี้ภัย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถเดินไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ (ยกเว้นประเทศบาห์เรน) ดังนั้นจึงทำให้ประเทศไทยจะต้องวางตัวอย่างดีที่สุดกับเรื่องนี้ และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการพิจารณาการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งจะเป็นไปตาม พ.ร.บ ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 มาฝากกันด้วย มีหลักเกณฑ์ที่บัญญัติเอาไว้ ดังต่อไปนี้

1. ผู้มีสิทธิร้องขอ

ผู้มีสิทธิร้องขอให้ประเทศไทยส่งผู้ร้ายข้ามแดน คือ ประเทศ ดินแดน หรือองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งจะรวมเรียกว่า ประเทศผู้ร้องขอ

2. เงื่อนไขการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ต้องเป็นความผิดอาญาซึ่งกฎหมายของประเทศผู้ร้องขอและกฎหมายไทยกำหนดเป็นความผิดอาญาที่มีโทษจำคุก หรือโทษจำกัดเสรีภาพในรูปแบบอื่นตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป หากมีโทษต่ำกว่านี้ก็สามารถร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่ต้องเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกับความผิดที่ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำร้องขอแล้ว

3. การร้องขอมี 2 กรณี

กรณีที่ 1 เป็นคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของประเทศผู้ร้องขอที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย หากเข้ากรณีนี้ให้จัดส่งคำร้องขอไปยังผู้ประสานงานกลาง คือ อัยการสูงสุดหรือผู้ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย กรณีที่ 2 เป็นคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของประเทศผู้ร้องขอที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย วิธีการคือ ให้จัดส่งคำร้องขอดังกล่าวโดยผ่านวิถีทางการทูต

4. วัตถุประสงค์ที่ขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน

แบ่งออกเป็น 2 ข้อ ได้แก่ (1) เพื่อการฟ้องร้อง หรือ (2) รับโทษตามคำพิพากษาของศาลในความผิดอาญาซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจดำเนินคดีของประเทศผู้ร้องขอ โดยรัฐบาลไทยจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่

ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) กรณีเป็นความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้และไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไทย หรือไม่ใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร (2) กรณีที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน เมื่อประเทศผู้ร้องขอได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศไทยในทำนองเดียวกันเมื่อประเทศไทยร้องขอหรือเป็นลักษณะต่างตอบแทน

5. ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง

ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองที่รัฐบาลไทยอาจไม่พิจารณาส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นต้องไม่หมายความรวมถึงความผิดดังต่อไปนี้ (1) การปลงพระชนม์ ประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์พระราชินีหรือรัชทายาท (2) การฆ่า ประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล หรือสมาชิกโดยตรงในครอบครัวของบุคคลนั้น และ (3) การกระทำความผิดที่ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี

6. ความผิดทางทหาร

ความผิดทางทหาร หมายความว่าความผิดอาญาทางทหารโดยเฉพาะ และมิใช่ความผิดตามกฎหมายอาญาทั่วไป

7. การดำเนินการตามคำร้องขอ

การดำเนินการตามคำร้องขอให้ส่งบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทำได้เฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศผู้ร้องขอกำหนดไว้ (2) บุคคลนั้นยินยอมให้ส่งข้ามแดน หรือ (3) เป็นการส่งผู้ร้ายข้ามแดนภายใต้เงื่อนไขต่างตอบแทนที่ประเทศไทยทำกับประเทศผู้ร้องขอ

8. กรณีคำร้องขอส่งผ่านทางการทูต

ในกรณีที่คำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนยื่นผ่านวิธีทางการทูต ให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) หากเห็นว่าคำร้องขอดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะไม่ดำเนินการให้ก็ให้ส่งคำร้องนั้นให้ผู้ประสานงานกลางดำเนินการต่อไป

(2) หากเห็นว่าคำร้องขอดังกล่าวอาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือมีเหตุผลอื่นที่ไม่อาจดำเนินการให้ได้ก็ให้กระทรวงการต่างประเทศเสนอความเห็นนั้นพร้อมด้วยคำร้องขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นชอบต่อความเห็นดังกล่าวของกระทรวงการต่างประเทศให้พิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำร้องขอก็ให้กระทรวงการต่างประเทศส่งเรื่องให้ผู้ประสานงานกลางดำเนินการต่อไป

9. คำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือจากประเทศผู้ร้องขอแล้วแต่กรณี ให้ผู้ประสานงานกลางพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีที่เห็นว่าคำร้องขอนั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะดำเนินการให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้ประสานงานกลางแจ้งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายจับแล้วจัดส่งหมายจับให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

(2) ในกรณีที่คำร้องขอนั้นมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือมีเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้อง หรืออาจดำเนินการให้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่จำเป็นบางประการ ให้ผู้ประสานงานกลางแจ้งเหตุขัดข้องหรือเงื่อนไขที่จำเป็นให้ประเทศผู้ร้องขอทราบ แต่ถ้าการดำเนินการตามคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทบกระเทือนการฟ้องคดีอื่นใด หรือการดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับคดีอาญาซึ่งผู้นั้นกำลังถูกดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ผู้ประสานงานกลางจะเลื่อนการดำเนินการตามคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น หรือจะดำเนินการโดยกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นก็ได้ ทั้งนี้ ให้แจ้งให้ประเทศผู้ร้องขอทราบโดยไม่ชักช้า

(3) ในกรณีที่คำร้องขอนั้นมิได้ส่งผ่านวิถีทางการทูตให้ผู้ประสานงานกลางแจ้งคำร้องขอดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศทราบเพื่อให้ความเห็นก่อนดำเนินการต่อไป โดยกระทรวงการต่างประเทศอาจพิจารณาคำร้องว่ากระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือมีเหตุอื่นที่ไม่อาจดำเนินการให้ได้หรือไม่แล้วเสนอความเห็นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

(4) ในกรณีที่ผู้ประสานงานกลางเห็นว่าคำร้องขออาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือมีเหตุผลอื่นใดซึ่งไม่ควรดำเนินการหรือเห็นว่าคำร้องขอดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะดำเนินการให้ได้ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ ให้ผู้ประสานงานกลางแจ้งประเทศผู้ร้องขอหรือกระทรวงการต่างประเทศแล้วแต่กรณีเพื่อดำเนินการต่อไป

10. กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน

ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนประเทศผู้ร้องขอ อาจมีคำร้องขอให้จับกุมและคุมขังบุคคลที่ต้องการตัวไว้ชั่วคราวก่อนก็ได้ คำร้องขอเช่นว่านี้ของประเทศผู้ร้องขอที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทยให้จัดส่งไปยังผู้ประสานงานกลาง ในกรณีที่ประเทศผู้ร้องขอมิได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทยให้ส่งผ่านวิถีทางการทูต

11. จับกุมบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดน

เมื่อจับกุมบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนได้แล้วตามหมายจับของศาล ให้นำส่งพนักงานอัยการโดยมิชักช้า เพื่อยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งขังบุคคลซึ่งถูกร้องขอไว้ในระหว่างรอคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการและเอกสารหลักฐานจากประเทศผู้ร้องขอ หากศาลไม่ได้รับคำฟ้องเพื่อดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนภายใน 60 วันนับแต่วันที่บุคคลซึ่งถูกร้องขอถูกจับหรือภายในเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่บุคคลนั้นถูกจับ ให้ปล่อยตัวบุคคลนั้นไป

12. ในกรณีที่เห็นสมควรแล้ว

ในกรณีที่เห็นสมควรกระทรวงการต่างประเทศอาจเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ผู้ประสานงานกลางก่อนเสนอต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาและให้ศาลมีอำนาจเรียกกระทรวงการต่างประเทศมาชี้แจง เพื่อประกอบการพิจารณาได้ การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ก็สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ด้วย

13. พนักงานอัยการนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยมิชักช้า

เมื่อจับบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนได้แล้ว ให้พนักงานอัยการนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยมิชักช้า โดยให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรให้เลื่อนคดีตามที่พนักงานอัยการ หรือบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนร้องขอ ทั้งนี้ให้ศาลสั่งขังบุคคลซึ่งถูกร้องขอนั้นไว้ในระหว่างการพิจารณา

ถ้ามีคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวให้ศาลถามพนักงานอัยการว่า จะคัดค้านประการใดหรือไม่ หากมีคำคัดค้านของพนักงานอัยการ ศาลเพิ่งรับฟังประกอบการวินิจฉัย ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามบุคคลซึ่งถูกร้องขอว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและต้องการทนายความให้ศาลตั้งทนายความให้ ส่วนขั้นตอนและสิทธิอื่น ๆ เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

14. พิเคราะห์พยานหลักฐาน

เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่ามีเหตุดังต่อไปนี้ ให้ศาลมีคำสั่งขังบุคคลนั้นไว้เพื่อส่งข้ามแดนต่อไป หมายความว่า ศาลพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ตามที่อัยการยื่นคำฟ้อง กล่าวคือ (1) บุคคลซึ่งถูกจับนั้นเป็นบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนและมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย หรือเป็นผู้มีสัญชาติไทยแต่อยู่ในหลักเกณฑ์ให้ส่งข้ามแดนได้

(2) คดีมีมูลที่จะรับฟ้องไว้พิจารณาหากความผิดนั้นได้กระทำลงในราชอาณาจักรหรือมีกฎหมายบัญญัติให้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร และ (3) ความผิดซึ่งเป็นเหตุให้ร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น เป็นความผิดซึ่งอาจส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ตามพระราชบัญญัตินี้ และมิใช่เป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหารโดยเฉพาะ

15. พยานหลักฐานไม่เพียงพอก็ให้ศาลมีคำสั่งปล่อย

หากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอก็ให้ศาลมีคำสั่งปล่อยและดำเนินการปล่อยบุคคลนั้นไป เมื่อสิ้นระยะเวลา 72 ชั่วโมงนับแต่ได้อ่านคำสั่งปล่อย เว้นแต่ภายในระยะเวลาดังกล่าวพนักงานอัยการจะได้แจ้งความจำนงว่าจะอุทธรณ์ก็ให้ขังผู้ถูกร้องขอไว้ในระหว่างอุทธรณ์ และอัยการจะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ศาลอ่านคำสั่งปล่อย

16. คำสั่งอนุญาตส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ถ้าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขังบุคคลนั้นไว้เพื่อส่งข้ามแดนแล้ว ห้ามไม่ให้ส่งบุคคลดังกล่าวข้ามแดนก่อนครบกำหนดระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งขังเพื่อส่งข้ามแดน เมื่อมีเหตุอันสมควรที่จะเลื่อนกำหนดการส่งบุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งขังเพื่อส่งข้ามแดน ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่งขังบุคคลนั้นต่อไปตามกำหนดเวลาเท่าที่จำเป็น คำร้องเช่นว่านั้นจะต้องยื่นก่อนครบกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ขังเพื่อส่งข้ามแดน

ถ้ามิได้ส่งบุคคลนั้นข้ามแดนภายในเวลา 90 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุด หรือภายในกำหนดเวลาที่ศาลได้อนุญาตให้ขยายออกไปตามคำร้องของพนักงานอัยการ ให้ปล่อยบุคคลนั้นไป

17. มีคำสั่งให้ปล่อยตัวหรือขัง

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปล่อยหรือขังบุคคลเพื่อส่งข้ามแดนแล้ว พนักงานอัยการหรือบุคคลนั้นอาจยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ศาลได้อ่านคำสั่งนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ โดยปกติแล้วการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจะเป็นกระบวนการหรือมาตรการความร่วมมือทางกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดในประเทศหนึ่งแลัวหลบหนีไปยังอีกประเทศหนึ่ง รวมถึงการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมในลักษณะเป็นองค์กรข้ามชาติ (Transnational Organized Crime) ให้สามารถที่จะส่งตัวไปดำเนินคดีในความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำลงไป

ความร่วมมือนี้ จึงเป็นการรักษาระบบของกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้สัมฤทธิ์ผลและเป็นรูปธรรมมากที่สุด ทั้งนี้วิธีการหรือการดำเนินการในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีเจตนารมณ์ในการที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อที่จะทำให้สังคมเกิดความสงบสุข รวมทั้งถือเป็นเป้าหมายสำคัญร่วมกันของประชาคมโลก อีกด้วย

คำศัพท์น่ารู้

– Deportation : การเนรเทศ
– Double Criminality : ความผิดตามกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ ใช้ในกรณีส่งผู้ร้ายข้ามแดน
– Disguised Extradition : การส่งผู้ร้ายข้ามแดนแบบแฝง
– Extradition : การส่งผู้ร้ายข้ามแดน / ผู้ร้ายข้ามแดน
– Felony Assault : ความผิดทางอาญาร้ายแรง
– International Criminal Police Organization หรือเขียนแบบย่อว่า INTERPOL : องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (อินเตอร์โพล)
– Refugee : ผู้ลี้ภัย
– Rendition : การส่งผู้ร้ายข้ามรัฐ

อ้างอิงข้อมูลจาก : www.khaosod.co.thwww.fad.go.thวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง