ก่อกองไฟ ตกปลา ที่พัก ป่า ลูกเสือ วิธีเอาตัวรอด สัญลักษณ์ เทคนิคต่างๆ

วิธีเอาตัวรอดในป่า (1) ก่อกองไฟ สัญลักษณ์ต่างๆ การสร้างที่พัก

Home / สาระความรู้ / วิธีเอาตัวรอดในป่า (1) ก่อกองไฟ สัญลักษณ์ต่างๆ การสร้างที่พัก

เชื่อว่าทุกคนต้องผ่านการเรียนลูกเสือมา เรื่องของการก่อกองไฟ การเอาตัวรอดในป่า การทำสัญลักษณ์ต่างๆ ได้เรียนผ่านกันมาแล้วไม่รู้กี่รอบ แต่หลายๆ คนรวมทั้งตัวผู้เขียนเองด้วยก็ไม่ได้สนใจที่จะตั้งใจเรียนวิชาลูกเสือมากนัก เพราะคิดว่า โอ๊ย เรื่องไกลตัว ไม่เห็นต้องเรียนเลย เอาเวลาไปสนใจวิชาอื่นดีกว่า สุดท้ายก็เรียนแค่พอสนุกๆ ผ่านๆ ไป จำอะไรไม่ได้เลย แต่ใครจะคิดว่าวันนึงข่าวเรื่องเด็กหลง ทำให้ผู้เขียนเอง และหลายๆ คนฉุกคิดขึ้นมาว่า อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ อย่าประมาท มีความรู้เยอะแล้วไม่ได้ใช้ ดีกว่าตอนจะใช้แต่ไม่มีความรู้เลย วันนี้ Campus-Star จึงนำวิธีการเอาตัวรอดในป่ามาให้ได้ศึกษากัน

สารพัดวิธี วิธีเอาตัวรอดในป่า (1)

อ่านชุดที่ 2 ได้ที่นี่ : ทำหอกจับปลา รอยเท้าสัตว์ต่างๆ ขุดหลุมก่อไฟ

วิธีก่อกองไฟอย่างถูกวิธี

การก่อกองไฟเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกเมื่อยู่ในป่า กองไฟมีประโยชน์เป็นอย่างมากเมื่อคุณอยู่ในป่า เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และใช้ทำอาหารแล้ว ยังช่วยป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่าอีกด้วย แต่หลายๆ คนที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ หรือคนที่ไม่ค่อยได้เที่ยวป่า ก็จะก่อกองไฟไม่เป็น หรือไม่รู้วิธีการก่อกองไฟที่ถูกต้อง หลายๆ คนจึงเสียเวลานานไปกับการก่อกองไฟ ฉะนั้นวันนี้มาเรียนรู้การก่อกองไฟอย่างถูกต้องกันดีกว่า จากรูปภาพด้านล่างการก่อไฟจะมี 3 ส่วน

วิธีก่อกองไฟอย่างถูกวิธี

ภาพที่ 1 : หากิ่งไม้แห้งเล็กๆ ขนาดประมาณดินสอ ยาวประมาณฝ่ามือ จำนวนไม่มากนัก ประมาณสองมือของคุณกำรอบก็เพียงพอแล้ว

ภาพที่ 2 : เตรียมกิ่งไม้แห้ง ขนาดประมาณนิ้วมือ และยาวประมาณ 1 ศอก ( ปลายนิ้วมือจนถึงปลายข้อศอก ) จำนวนกิ่งไม้ที่คุณต้องเตรียมประมาณสองแขนของคุณโอบรอบก็พอแล้ว

ภาพที่ 3 : เตรียมกิ่งไม้แห้งขนาดใหญ่ ประมาณกิ่งไม้ 3 กิ่งรวมกัน ควรมีขนาดเท่ากับข้อมือ หรือใหญ่กว่านั้นก็ได้ ขนาดยาวประมาณ 1 ศอก ( ปลายนิ้วมือจนถึงปลายข้อศอก ) ส่วนจำนวนของกิ่งไม้ที่ต้องเตรียม เมื่อกองกิ่งไม้ที่หามาได้ไว้ที่พื้น แล้วกองกิ่งไม้สูงประมาณหัวเข่าจากพื้นก็เพียงพอแล้ว

เมื่อเตรียมกิ่งไม้ทั้ง 3 ส่วนเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเป็นการเริ่มก่อกองไฟ โดยจะเริ่มจาก นำกิ่งไม้ขนาดเล็ก ( ขนาดเท่าดินสอ ) มาจัดเรียงเป็นรูปเต็นท์ แล้วจุดไฟ หลังจากนั้น เริ่มวางกิ่งไม้ขนาดกลาง ( ขนาดเท่านิ้วมือ ) ที่เราเตรียมไว้ ค่อยๆ วางรอบๆ กองไฟอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นจึงเริ่มใส่กิ่งไม้ขนาดใหญ่ ( เท่าข้อมือ )

รูปแบบของกองไฟ

จริงๆ แล้วการก่อกองไฟมีหลายรูปแบบ ซึ่งในแต่ละแบบจะเหมาะกับการใช้งานและสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป มาดูกันเลยว่ากองไฟรูปแบบไหน เหมาะกับการใช้งานอย่างไร จะได้นำไปใช้ได้อย่างถูกวิธี

รูปแบบของกองไฟ

แบบที่ 1 : Swedish firewood ( การก่อกองไฟแบบชาวสวีเดน ) 

สามารถอยู่ได้นานถึง 5 ชั่วโมงด้วยกัน เหมาะกับการก่อไฟเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร แต่ไม่ให้ความสว่างมากนัก

แบบที่ 2 : Teepee fires ( การก่อกองไฟแบบกระโจมอินเดียแดง )

กองไฟแบบนี้สามารถก่อได้เร็วมากที่สุด ให้ความอบอุ่นและแสงสว่างดี แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่ไม่เหมาะในสภาพอากาศที่ลมแรง

แบบที่ 3 : Star fires ( การก่อกองไฟแบบไฟดาว )

กองไฟแบบนี้เหมาะสำหรับการทำอาหาร และเชื้อไฟสามารถอยู่ได้นาน แต่ถ้าคุณก่อกองไฟชนิดนี้ผิดวิธีล่ะก็ คุณจะเสียเวลานานเลยล่ะ เพราะจะติดไฟได้ยาก

แบบที่ 4 : Lean-to fires

กองไฟชนิดนี้เหมาะสำหรับสภาพอากาศย่ำแย่

แบบที่ 5 : Platform fires

เหมาะสำหรับใช้ในการประกอบอาหาร แต่ต้องใช้กิ่งไม้แห้งที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่

แบบที่ 6 : Log cabin firesการ ( ก่อกองไฟแบบเชิงตะกอน )

กองไฟชนิดนี้ให้การเผาไหม้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องคอยเติมไฟบ่อยนัก แต่ผู้ที่ก่อกองไฟควรมีความชำนาญในการก่อกองไฟชนิดนี้จึงจะไม่ทำให้ไฟดับ

สัญลักษณ์ต่างๆ

การเรียนรู้ที่จะทำสัญลักษณ์ต่างๆ เมื่อเดินป่าก็มีความสำคัญ คุณสามารถใช้สิ่งรอบตัว เช่น ก้อนหิน กิ่งไม้ หรือต้นหญ้าในการทำสัญลักษณ์เพื่อบอกทาง หรือขอความช่วยเหลือได้

หมายเหตุ : แปลข้อความภาษาอังกฤษในรูปภาพด้านบน 

Danger แปลว่า อันตราย

The camp is here แปลว่า แคมป์อยู่ที่นี่

I got lost แปลว่า ฉันหลงทาง

Good news แปลว่า ข่าวดี

Get-together แปลว่า รวมกลุ่ม

ตกปลาแบบอัตโนมัติ

ปลาก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่คุณสามารถหาทานได้ง่ายเมื่อคุณหลงป่า แต่เอ๊ะ ก่อนที่จะได้ทานปลา ก็ต้องออกแรงตกปลากันก่อนสิ มาดูวิธีการทำเบ็ดตกปลาแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องนั่งถือเบ็ดตกปลาให้เมื่อยเลย แค่นั่งรอเฉยๆ ก็พอ

อย่างแรกคือมองหาต้นไม้ต้นเล็กๆ ใกล้แหล่งน้ำ เหลาลิ่มไม้ 2 ชิ้นให้เป็นห่วงเกี่ยวกันเหมือนตะขอดังในภาพ ชิ้นแรกตอกไว้ในดินเหลือหัวตะขอไว้ ส่วนอีกชิ้นผูกปลายกับเชือกให้แน่น และใช้เชือกอีกฝั่งผูกติดกับกิ่งต้นไม้ที่สามารถโน้มได้ ส่วนหัวตะขอให้ผูกกับเบ็ดตกปลาที่มีเหยื่อไว้ จากนั้นโน้มปลายกิ่งไม้ให้ลิ่มไม้ที่เหลาไว้เกี่ยวกัน เมื่อปลามากินเหยื่อ กับดักก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ

วิธีการหาไส้เดือนดิน

ก่อนที่จะตกปลา อย่าลืมหาเหยื่อก่อนนะ คนส่วนใหญ่จะใช้ไส้เดือนเป็นเหยื่อตกปลา วิธีการหาไส้เดือนก็ไม่ยากเลย ใช้แค่กิ่งไม้เล็กๆ 2 กิ่งเท่านั้นเอง

หาพื้นที่ที่ดินชื้นๆ เตรียมกิ่งไม้เล็กๆ ไว้ 2 อัน อันแรกปักลงไปในดิน จากนั้นใช้กิ่งไม้อันที่ 2 ถูไปมาซ้ายขวากับกิ่งไม้อันแรก ประมาณ 2 ถึง 3 นาที ไส้เดือนดินก็จะเริ่มออกมาจากรู จากนั้นก็จับไปทำเหยื่อได้เลยจ้า

วิธีการสร้างที่พัก

ถ้าคุณเกิดเหตุสุดวิสัยต้องนอนในป่า เพราะสภาพอากาศย่ำแย่ หรือหลงป่า และคุณไม่ได้เตรียมเต็นท์มา เปลก็ไม่มี ทำห้างบนต้นไม้ก็ไม่เป็น แล้วป่าตอนกลางคืนก็หนาวด้วย การทำกระโจมที่พักแบบชั่วคราวในป่าก็อีกหนึ่งทางเลือกที่ดี

ขั้นตอนที่ 1 : เตรียมไม้ง่าม ( ลักษณะเป็นรูปตัว Y ) 2 ท่อนเป็นไม้ค้ำ และท่อนไม้ยาวๆ 1 ท่อนนำไม้ทั้ง 3 ชิ้นมาประกอบเป็นกระโจมดังภาพ ขนาดของกระโจมต้องพอดี และมั่นใจว่าคุณสามารถเข้าไปอยู่ข้างในได้

ขั้นตอนที่ 2 : หาใบไม้หรือหญ้าแห้งมาปูรองให้หนาประมาณ 6 ถึง 10 นิ้วเพื่อสร้างความอบอุ่น

ขั้นตอนที่ 3 : นำท่อนไม้มาค้ำเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

ขั้นตอนที่ 4 : นำกิ่งไม้ ( ดังภาพ Step 4 ) มาคลุมกระโจมให้ทั่ว หลายๆ ชั้น

ขั้นตอนที่ 5 : นำใบไม้แห้งมาปิดทับอีกที เพื่อกันลม ใช้ใบไม้ขนาดใหญ่ก่อน แล้วจึงใช้ใบไม้ขนาดเล็ก

ขั้นตอนที่ 6 : เตรียมใบไม้ไว้สำหรับปิดปากกระโจมเมื่อเข้ากระโจมไปแล้ว เท่านี้ก็มีที่นอนอุ่นๆ ไม่ต้องกลัวเป็นหวัด เป็นไข้แล้ว

วิธีการเอาตัวรอดในป่า (2) ทำหอกจับปลา รอยเท้าสัตว์ต่างๆ ขุดหลุมก่อไฟ

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก : brightside.me

บทความแนะนำ