ภาพยนตร์ซีรีส์ อิงประวัติศาสตร์ “ศรีอโยธยา” ของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือ หม่อมน้อย ที่จะออนแอร์ทางช่อง 24U (ทรูโฟร์ยู) ตอนปลายปี 2560 ที่มีนักแสดงมากฝีมือร่วมแสดงเพียบ ซึ่งก่อนหน้าได้เปิดภาพนางเอก แพนเค้ก เขมนิจ ไปแล้ว ล่าสุดทางเฟซบุ๊ก SriAyodhaya Official ได้เปิดภาพนักแสดงในบทบาทต่างๆ ให้ชมกัน มารู้จักกับนักแสดงในซีรีส์ศรีอโยธยากันได้เลยค่ะ
ข้อมูล นักแสดงหลัก “ศรีอโยธยา”
ฝ่ายชาย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
รับบทโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ทรงเป็น พระบรมกษัตราธิราชองค์ที่ ๓๑ แห่งราชอาณาจักรอยุธยา เป็นพระโอรส “สมเด็จพระเจ้าเสือ”
ในรัชกาลของพระองค์ ได้ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองและศาสนา จนกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองที่สุด ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และการศาสนา อันเป็นต้นแบบอารยธรรมแก่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทรงเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยเป็นล้นพ้น พระราชทานบิณฑบาตแด่ภิกษุสงฆ์วันละร้อยรูป บำรุงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เป็นสุข ดังบิดาต่อบุตรทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมอย่างเคร่งครัดใครผิด ก็ให้ลงทัณฑ์ ใครชอบก็พระราชทานรางวัล แม้แต่พระราชโอรสซึ่งทรงเสน่หารักใคร่ เมื่อไม่อยู่ในธรรมก็ทรงสังหารให้พิราลัย
สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ กรมขุนเสนาพิทักษ์
รับบทโดย ปกรณ์ ลัม
“สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศฯ” หรือ “เจ้าฟ้ากุ้ง” ทรงเป็นเจ้าชายรูปงาม พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ทรงดำรงตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” องค์รัชทายาทแห่งแผ่นดิน ทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างสูงส่งในด้านวรรณกรรม บทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์นับ ตั้งแต่รัชสมัย ของพระองค์ จนถึงปัจจุบัน
นับว่าทรงเป็น “พระมหากวี” แห่งสยามประเทศ ทั้งยังทรงทำนุบำรุงพระบวรศาสนา และการรบสมกับที่จะทรงขึ้น ครองราชย์สมบัติตามความมุ่งหวังของพระราชบิดา
แต่ทรงมี “ความรัก” กับ “หม่อมเจ้าสังวาล” พระญาติสนิทผู้เลอโฉมอย่างสนิทเสน่หา ก่อนที่หม่อมเจ้าสังวาล จะได้ถวายตัวเป็น “พระมเหสีฝ่ายซ้าย” ในพระราชบิดา และด้วยอานุภาพแห่งความรักนั้น ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องทรงกระทำการอันผิดแก่โบราณราชประเพณี ด้วยการทรงลอบเป็นชู้ สร้างความโทมนัสอย่างใหญ่หลวงแก่องค์พระราชบิดา ซึ่งทรงต้องยึดมั่นในกฎมณเฑียรบาลแห่งโบราณราชประเพณี ด้วยการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์จนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ พระศพถูกฝังเอาไว้ที่วัดไชยวัฒนาราม
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
รับบทโดย ศรราม เทพพิทักษ์
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” มีพระนามเดิมว่า “สิน” พระบิดาเป็นคนจีนแต้จิ๋ว อพยพมาจากเมืองซัวเถา มีนามว่า “ขุนพัฒน์” หรือ หยง ไฮ่ฮอง แซ่ซ้อง หรือ แซ่แต้ พระมารดา เป็นสตรีไทย ชื่อ “นกเอี้ยง” ประสูติเมื่อ ๒๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๒๗๗ ในแผ่นดิน “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ”
และเนื่องจากท่านบิดาเป็น “นายอากรบ่อนเบี้ย” จึงคุ้นเคย กับ “เจ้าพระยาจักรีสมุหนายก” ในรัชสมัยนั้น ซึ่งท่านขอ “เด็กชายสิน” เป็นบุตรบุญธรรม และนำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทมใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” พร้อมกับ “เด็กชายทองด้วง” (พระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) บุตรชายพระอักษรสุนทรศาสตร์ และ “เด็กชายบุนนาค” บุตรชายพระยาจ่า แสนยากร (เสน วงศ์เฉกอะหมัด) ซึ่งต่อมา ถวายตัวต่อ “กรมพระวังบวรมงคล”ท่านได้รับการศึกษาขั้นต้นที่สำนักวัดโกษาวาส ที่สำนักพระอาจารย์ทองดี รับสั่งได้ ๔ ภาษา คือ ไทย จีน ลาว และญวน เมื่อพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ขอบรรพชา เป็นสามเณรที่วัด สามวิหารพร้อมกับ “เด็กชายทองด้วง” และ “เด็กชายบุนนาค” เมื่อทรงเจริญวัยขึ้นก็ทรง ศึกษายุทธศาสตร์จาก “ พระยาพิชัยชาญฤทธิ์” และเข้ารับราชการแผ่นดินที่ศาลหลวงในกรมวัง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
รับบทโดย ธีรภัทร์ สัจจกุล
“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ” พระนามเดิมว่า “ทองด้วง” พระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๒๗๙ ในแผ่นดิน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” พระราชบิดาคือ “พระอักษรสุนทรศาสตร์” พระราชมารดาทรงพระนามว่า “หยก” ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทมพร้อมกับ “เด็กชายสิน (พระเจ้าตากสินมหาราช)” และ “เด็กชาย บุนนาค (ต้นตระกูลบุนนาค)” ทำให้เป็นสหายรักกัน ทั้ง 3 ท่าน
เมื่อทรงเจริญวัยก็ถวายตัวเป็น มหาดเล็กใน “กรมขุนพรพินิต” (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร) ครั้งเมื่อทรงดำรงตำแหน่ง “กรมพระวังบวร สถานมงคล” พร้อมกับ คุณบุนนาค
เมื่อ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ” ขึ้นครองราชย์สมบัติ ก็ถวายตัวรับราชการในพระราชสำนัก จนพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณแต่งตั้งให้ทรงเป็น “เจ้ายกกระบัตร เมืองราชบุรี” และสมรสกับ “คุณนาก” (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ธิดาเศรษฐีชาวมอญที่อัมพวา ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษา ได้ถวายตัวรับราชการ ในแผ่นดิน “พระเจ้ากรุงธนบุรี” ดำรงพระยศเป็น “พระราชวรินทร์” เจ้ากรมตำรวจนอกขวา ในแผ่นดิน “พระเจ้ากรุงธนบุรี” นี้เอง
ทรงมีผลงานในเชิงรบ ให้เป็นที่ประจักษ์ มากมาย อาทิ “ศึกเจ้าพิมาย” ทำให้ทรงได้เลื่อนยศเป็น “พระยาอภัยรณฤทธิ์” และ “พระยาจักรี” หลังจากที่ทรงเป็นแม่ทัพไปตีเขมรจนชนะ จึงมีพระราช โองการแต่งตั้งให้ทรงเป็น “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” ทรงมีเครื่องยศเสมอเจ้าต่างกรม
ฝ่ายหญิง
กรมหลวงพิพิธมนตรี
รับบทโดย สินจัย เปล่งพานิช
“กรมหลวงพิพิธมนตรี” หรือสมเด็จพระพันวัสสาน้อย ทรงเป็นพระมเหสีใน “สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวบรมโกศ” และเป็นพระขนิษฐาใน “กรมหลวงอภัยนุชิต” ทรงมีพระราชโอรส ๒ พระองค์คือ “เจ้าฟ้าเอกทัศ” (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) และ “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” (กรมขุนพรพินิต) ซึ่งต่อมาได้ครองราชสมบัติ เสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตราธิราชทั้งสองพระองค์ คือ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร” (เจ้าฟ้าดอกเดื่อ) และ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ” เมื่อครั้งแผ่นดิน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” เมื่อ “กรมขุนเสนาพิทักษ์”หรือ “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ” ทรงต้องพระราชอาญาประหารนั้น ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนา “กรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้าดอกเดื่อ)” พระราชโอรสพระองค์เล็กขึ้นเป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” องค์รัชทายาทสืบพระราชบัลลังก์
เจ้าฟ้าสังวาล
รับบทโดย วรนุช ภิรมย์ภักดี
“เจ้าฟ้าสังวาล” ทรงเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ใน“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” พระนามเดิม คือ “หม่อมเจ้าสังวาล” ทรงเป็นพระธิดาใน “พระองค์ชายแก้ว” พระโอรสใน “สมเด็จพระเพทราชา” พระราชมารดาคือ “เจ้าฟ้าเทพ” พระราชธิดาใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ”
เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าหญิงนั้น ทรงเคยมีพระราชหฤทัยปฏิพัทธ์รักใคร่เสน่หากับ “เจ้าฟ้า ธรรมาธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์” องค์รัชทายาทอยู่ก่อน และต่อมาเมื่อทรงได้รับสถาปนาเป็น พระมเหสีฝ่ายซ้าย ก็มิอาจหักห้ามพระทัยอันสนิทเสน่หาต่อองค์รัชทายาทได้ ทั้งสองพระองค์จึงทรงลอบเป็นชู้ ขัดต่อขนบโบราณราชประเพณี จนต้องโทษประหารให้เสด็จพิราลัยทั้งสองพระองค์
กรมหลวงอภัยนุชิต
รับบทโดย ม.ล.สราลี กิติยากร
“กรมหลวงอภัยนุชิต” หรือ “พระพันวัสสาใหญ่” พระมเหสีฝ่ายขวาใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” เป็นพระธิดาในกรมพระราชวังหลังในรัชสมัย “สมเด็จพระเพทราชา” พระบิดาเป็นเชื้อสายอินเดีย วรรณะพราหมณ์ จากเมืองรามนคร รัฐมัชฌิมประเทศ และตั้งรกรากอยู่บ้านสมอพรื จังหวัดเพชรบุรี ในแผ่นดินสมเด็จ “พระนารายณ์มหาราช” พระบิดาของท่านรับราชการเป็นหลวงคชบาท หรือ “นายทรงบาทขวาช้างทรง และเป็นกำลังแก่ “สมเด็จพระเพทราชา” ปราบ “กบฏเจ้าพระยาวิชาเยนทร์” ขับไล่กองทหารฝรั่งเศสออกจากราชธานีได้สำเร็จ จึงได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังหลังในรัชสมัย “สมเด็จพระเพทราชา”
กรมหลวงอภัยนุชิตทรงมีพระราชโอรสพระองค์เดียวคือ “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ” กรมพระราชวังบวรมงคล มหาอุปราช ดังนั้นเมื่อ “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศฯ” ต้องคดีคบชู้กับ “เจ้าฟ้าสังวาล” แล้วทรงถูกประหาร พระองค์จึงต้องทรงประสบความโทมนัสอันใหญ่หลวง
กรมหมื่นพิมลภักดี
รับบทโดย รัดเกล้า อามาระดิษ
“กรมหมื่นพิมลภักดี” พระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าเมาฬี ทรงเป็นพระราชธิดาใน “สมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ประสูติแต่ เจ้าจอมมารดาพระสนมเอก ทรงเป็นพระอัครมเหสีพระองค์เดียวในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เอกทัศ ที่ทรงกรมทรงเป็นพระราชมารดาใน “เจ้าฟ้าสุทัศขัติยราชกุมาร” และ “เจ้าฟ้ารุจจาเทวี” ทรงจงรักภักดีต่อแผ่นดิน อย่างสูงสุด ในฐานะที่ทรงถือกำเนิดในบรมวงศานุวงศ์ แห่ง “ราชวงศ์บ้าน พลูหลวง”
เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา “กรมหมื่นพิมลภักดี” ทรงถูกกวาดต้อนเสด็จไปยังเมืองพม่าและสิ้นพระชนม์ชีพ ณ นครมัณฑะเลย์
สมเด็จเจ้าฟ้ารุจจาเทวี
รับบทโดย พิมดาว พานิชสมัย
“เจ้าฟ้ารุจจาเทวี” ทรงเป็นพระธิดาใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ” ทรงเป็นพระเชษฐภคินี ในเจ้าฟ้าสุทัศน์ฯ ประสูติแต่ “กรมหมื่นพิมลภักดี” (พระองค์เจ้าเมาฬี) พระราชชายาพระองค์เดียว ที่ทรงกรมฯ ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ในตัว “พระพิมานสถานมงคล” มหาดเล็กรูปงามในสมเด็จพระราชบิดา
พระกำนัลนารี “สังข์”
รับบทโดย ปิยะ เศวตพิกุล
พระกำนัลนารี “สังข์” น้องชายลักเพศของ “เจ้าพระยาพลเทพ” ผู้ถวายตัวเป็น “พระกำนัลนารี” (ขันที) ตั้งแต่แผ่นดิน “สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ” เป็นชายลักเพศที่ใฝ่หาแต่ความสุขสบายใส่ตน และบ้าอำนาจไม่แพ้พี่ชาย แต่ในความที่เป็นคนฉลาดหลักแหลมในการเจรจาพาทีอันตลบตะแลงปลิ้นปล้อน จึงเป็นฝ่ายเพ็ดทูลให้องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญพระราชหฤทัยได้ชั่วครู่ชั่วยาม ประดุจตลกหลวงในราชสำนัก
ลิงค์เกี่ยวข้อง
แนะนำนักแสดงเพียงบางส่วนเท่านั้น ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ FB SriAyodhayaOfficial