ทะเล ประวัติศาสตร์ ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ วันนี้ในอดีต สึนามิ

26 ธ.ค. 2547 เหตอุทกภัย สึนามิ ภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

Home / สาระความรู้ / 26 ธ.ค. 2547 เหตอุทกภัย สึนามิ ภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

รำลึกเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้เกิดเหตอุทกภัย คลื่นสึนามิ ที่สร้างความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีผู้คนเสียชีวิตกว่าสองแสนคน นับเป็นภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รวมประเทศที่ประสบภัยจากคลื่นสึนามิ และมีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น 11 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย พม่า อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ โซมาเลีย แทนซาเนีย และเคนยา รวมถึงในประเทศไทยใน 6 จังหวัดภาคใต้ ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล โดยเฉพาะที่จังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต มีการสูญเสียรุนแรงมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยได้รับมา

เหตอุทกภัย สึนามิ ภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

ลำดับเหตุการณ์ การเกิดคลื่นสึนามิ ในทะเลอันดามัน 26 ธ.ค. 2547

เวลา 07.59 น. ตามเวลาในประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหว มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณนอกฝั่งด้านตะวันตก ทางตอนเหนือของหัวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ละติจูด 3.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 59.8 องศาตะวันออก ลึกลงไปในแผ่นดินประมาณ 30 กิโลเมตร มีขนาดความรุนแรง 9.0 ตามมาตราริกเตอร์ นับเป็นแผ่นดินไหว ครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในทะเลอันดามัน และรุนแรงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ดังแสดงในตารางข้างล่างนี้

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวไม่นาน ได้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือสุดของเกาะสุมาตรา ในจังหวัดอาเจะห์ ความสูงและความรุนแรงของคลื่นทำให้เมืองและชุมชนตามชายฝั่งถูกทำลายอย่างกว้างขวาง มีผู้เสียชีวิตรวมกันทั้งหมดมากกว่า 150,000 คน บริเวณที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่เมืองบันดาอาเจะห์ (Banda Ajeh) ซึ่งเป็นเมืองหลักของจังหวัด รองลงมาคือ ที่เมืองเมอลาโบะห์ (Meulaboh) ซึ่งเป็นเมืองชายทะเล อยู่ไปทางใต้ของเมืองบันดาอาเจะห์ นับเป็นการสูญเสียชีวิตของผู้คนจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุด ในประเทศอินโดนีเซีย

– เวลาประมาณ 10.00 น. คลื่นสึนามิได้เริ่มเคลื่อนตัวมายังชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 500-600 กิโลเมตร ก่อให้เกิดความเสียหาย ในบริเวณชายฝั่งตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ของไทย มีผู้เสียชีวิตที่เกาะปีนังในประเทศมาเลเซีย ประมาณ 70 คน และใน 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย คือ จังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง รวมกัน ประมาณ 5,400 คน

คลื่นสึนามิส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวต่อขึ้นไปทางเหนือ จนถึงชายฝั่งของประเทศพม่า และประเทศบังกลาเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 1,500 – 1,700 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตที่บริเวณปากแม่น้ำอิรวดี ของประเทศพม่า ประมาณ 60 คน ส่วนในประเทศบังกลาเทศมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คน

Tsunami-2

(ภาพ::photoontour9.com) ภาพถ่ายจากดาวเทียม ก่อนและหลัง ที่ เขาหลัก จ.พังงา

คลื่นสึนามิส่วนที่เคลื่อนตัวจากเกาะสุมาตรามุ่งไปทางตะวันตก เคลื่อนที่ผ่านหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศอินเดียกลางทะเลอันดามัน จากนั้นเคลื่อนตัวต่อไปถึงชายฝั่งของรัฐทมิฬนาฑู และทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย รวมทั้งบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ ทางใต้ของอินเดีย มีผู้เสียชีวิตที่หมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ประมาณ 900 คน และที่รัฐทมิฬนาฑู ประมาณ 8,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เมืองนาคาปัตตินัม (Nagapattinum) ส่วนในประเทศศรีลังกา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 40,000 คน

– ต่อจากประเทศศรีลังกา คลื่นสึนามิได้เคลื่อนตัวผ่านมหาสมุทรอินเดียไปถึงหมู่เกาะมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากเกาะศรีลังกาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 650 กิโลเมตร เนื่องจากประเทศนี้มีภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะปะการังเตี้ยๆ จึงได้รับความเสียหายมาก มีรายงานผู้เสียชีวิตประมาณ 82 คน

คลื่นสึนามิส่วนหนึ่ง ยังคงเคลื่อนตัวต่อไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งอยู่ห่างจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหว ประมาณ 5,500 กิโลเมตร แม้จะอ่อนกำลังบ้างแล้วแต่ก็ทำความเสียหายให้แก่บริเวณชายฝั่งของประเทศโซมาเลีย และประเทศเคนยาได้มากพอสมควร มีผู้เสียชีวิตที่ประเทศโซมาเลีย ประมาณ 300 คน และที่ประเทศเคนยา 1 คน

– นักธรณีวิทยาให้ความเห็นว่า คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในทะเลอันดามันครั้งนี้ มีสาเหตุมาจาก แผ่นเปลือกโลกอินเดีย ขยับตัวเลื่อนมาทางทิศตะวันออก และมุดลงใต้ขอบแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยต่อ ของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยเลื่อน (fault) ขนาดใหญ่เป็นแนวยาว ตั้งแต่ทางตะวันออกของพม่า และตะวันตกของไทย ลงไปตามแนวของหมู่เกาะอันดามัน และหมู่เกาะนิโคบาร์ จนถึงทางเหนือของเกาะสุมาตรา และเนื่องจากแผ่นดินไหวมีความรุนแรงมากถึงระดับ 9.0 ตามมาตราริกเตอร์ จึงเกิดเป็นคลื่นสึนามิ แผ่ขยายออกไปโดยรอบในทะเลอันดามันและบางส่วนของมหาสมุทรอินเดียดังกล่าวแล้ว

สาเหตุที่พิบัติภัย สึนามิ มีความรุนแรงมาก

คลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ถือเป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงมากที่สุด เท่าที่ประเทศไทยเคยได้รับ ถึงแม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะมากเป็นอันดับ 4 รองจากประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา และอินเดีย ก็ตาม การที่พิบัติภัยจากคลื่นสึนามิมีความรุนแรงมากเป็นเพราะสาเหตุต่างๆ ดังนี้

2

แผนภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสึนามิ ขณะเคลื่อนที่จากท้องทะเลเข้าสู่ฝั่ง

1. ประเทศไทยยังไม่มีระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิ และขาดเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีความรู้ความชำนาญ เกี่ยวกับเรื่องคลื่นสึนามิโดยตรง ทั้งนี้ เนื่องจากในบริเวณทะเลอันดามันไม่เคยเกิดพิบัติภัย จากคลื่นสึนามิมาก่อน ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงขาดการระมัดระวังป้องกันภัย ไม่เหมือนกับประเทศที่อยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีการสร้างระบบเตือนภัยจากคลื่นสึนามิไว้เรียบร้อยแล้ว

ในตอนเช้าของวันที่ 26 ธันวาคม นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งมีเครื่องตรวจจับความสั่นสะเทือนของแผ่นเปลือกโลกจากแผ่นดินไหวอยู่ที่สำนักงาน ได้ทราบว่าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่บริเวณนอกฝั่งตะวันตกของหัวเกาะสุมาตรา จึงได้ออกประกาศแจ้งให้ประชาชนทราบ แต่มิได้มีการเตือนภัยว่าจะมีคลื่นสึนามิเกิดขึ้น เพราะไม่มีเครื่องมือตรวจวัดความสูงของคลื่นในทะเล และเจ้าหน้าที่ก็มิได้มีความรู้ความชำนาญ เกี่ยวกับเรื่องคลื่นสึนามิด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดคลื่นสึนามิขึ้นที่เกาะสุมาตรา และกำลังเคลื่อนตัวเข้ามา ที่พื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ของไทย จึงไม่มีการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ทราบล่วงหน้า ทำให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก

2. บริเวณที่มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก อยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล ที่สำคัญของไทย และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ นิยมเดินทางมาพักผ่อนกันมาก ประกอบกับอยู่ในช่วงเวลาเทศกาลคริสต์มาส และใกล้วันปีใหม่ จำนวนนักท่องเที่ยวจึงมีมากเป็นพิเศษ เมื่อเกิดพิบัติภัยขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจึงมีทั้งนักท่องเที่ยว และคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางมาจากประเทศในยุโรปเหนือ เช่น สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก มีจำนวนมากกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ

3. นักท่องเที่ยว และคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ คลื่นสึนามิมาก่อน จึงขาดการเฝ้าระวังภัยและการหนีภัย ดังจะเห็นได้จากกรณีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่ง เดินลงไปดูที่บริเวณชายหาด เมื่อเกิดน้ำลงผิดปกติก่อนที่คลื่นใหญ่จะเคลื่อนตัวเข้ามา และเมื่อคลื่นถาโถมเข้ามา ก็ไม่สามารถหนีภัยได้ทัน ต้องเสียชีวิตทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ที่พักอยู่ในบังกะโล หรือนั่งพักผ่อนอยู่ที่ร้านค้า และร้านอาหารบริเวณชายหาด ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถหนีภัยได้ทันเช่นกัน

4. เนื่องจากเป็นพิบัติภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมิได้มีการเตรียมแผนแก้ไขสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า การช่วยเหลือผู้ที่รอดชีวิตและบาดเจ็บจึงเป็นไปอย่างขลุกขลักและล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งท่องเที่ยว ที่เป็นเกาะห่างจากฝั่ง ความช่วยเหลือไปถึงล่าช้ากว่าบนพื้นแผ่นดินใหญ่ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการบาดเจ็บ จึงมีเพิ่มมากขึ้น

The Impossible หรือ 2004 สึนามิ ภูเก็ต

ภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์ สึนามิ ได้มีการทำภาพยนตร์เรื่อง The Impossible หรือ 2004 สึนามิ ภูเก็ต โดยถ่ายทำเป็นภาพยนตร์สเปน กำกับโดย ควน อันโตนีโอ บาโยนา จากบทภาพยนตร์ของเซร์คีโอ เค. ซานเชซ ดัดแปลงจากเรื่องราวของครอบครัวชาวสเปนที่เดินทางมาพักผ่อนที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งพวกเขาเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 นำแสดงโดยนาโอมิ วัตส์ และยวน แม็คเกรเกอร์

ภาพจาก www.tsunamis.com/tsunami-pictures.html , kanchanapisek.or.th

บทความแนะนำ