การรุกรานนานกิงของทหารญี่ปุ่น จีน ญี่ปุ่น วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 13 ธันวาคม การรุกรานนานกิงของทหารญี่ปุ่น

Home / สาระความรู้ / วันนี้ในอดีต 13 ธันวาคม การรุกรานนานกิงของทหารญี่ปุ่น

วันนี้ในอดีต เมื่อย้อนกลับไปในวันที่ 13 ธันวาคม ปี 1937 ซึ่งเป็นวันที่กองทัพญี่ปุ่นกรีฑาทัพมาถึงเมืองนานกิง (หนานจิง) และทำการสังหารหมู่ชาวนานกิงเป็นเวลานานถึง 40 วัน หรือที่เรียกกันว่า “การสังหารหมู่นานกิง หรือ การข่มขืนนานกิง” การสังหารหมู่ในครั้งนั้นทำให้มีทหารและประชาชนชาวจีนเสียชีวิตมากกว่า 3 แสนคน เฉลี่ยแล้วทุกๆ 12 วินาทีจะมีชาวจีนที่ต้องสังเวยชีวิต 1 คน

วันนี้ในอดีต : การรุกรานนานกิงของทหารญี่ปุ่น

วันนี้ในอดีต 13 ธันวาคม การรุกรานนานกิงของทหารญี่ปุ่น

ประวัติความเป็นมา

การสังหารหมู่นานกิง (Nanking Massacre หรือ Nanjing Massacre) หรือรู้จักกันในนาม การข่มขืนนานกิง (Rape of Nanking) เป็นการสังหารหมู่และการข่มขืนยามสงคราม (war rape) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลา 6 สัปดาห์หลังญี่ปุ่นยึดนครนานกิง อดีตเมืองหลวงของสาธารณรัฐจีน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 1937 ระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 โดยพลเรือนและทหารจีนที่ถูกปลดอาวุธหลายแสนคนถูกทหารกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นฆ่า ทั้งยังเกิดการข่มขืนและฉกชิงทรัพย์อย่างกว้างขวาง นักประวัติศาสตร์และพยานประเมินว่ามีผู้ถูกฆ่าระหว่าง 250,000 ถึง 300,000 คน ผู้ก่อการสังหารหมู่หลายคน ซึ่งขณะนั้นถูกตราว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม ภายหลังถูกไต่สวนและตัดสินว่ามีความผิด ณ ศาลชำนาญพิเศษอาชญากรรมสงครามนานกิง และถูกประหารชีวิต ซึ่งในสงครามครั้งนี้ เจ้าชายยะซุฮิโกะ อะซะกะ พระอนุวงศ์ญี่ปุ่น อันเป็นผู้ก่อการสำคัญคนหนึ่ง ทรงรอดจากการฟ้องคดีอาญา เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรได้ให้ความคุ้มกันไว้ก่อน

เหตุการณ์นี้ยังเป็นประเด็นพิพาททางการเมือง เพราะนักลัทธิแก้ประวัติศาสตร์ (historical revisionist) และนักชาตินิยมญี่ปุ่นบางคนแย้งหลายแง่มุมของเหตุการณ์ดังกล่าว โดยอ้างว่า การสังหารหมู่มีการบรรยายเกินจริงหรือแต่งขึ้นทั้งหมดเพื่อจุดประสงค์ด้านโฆษณาชวนเชื่อ ผลของความพยายามของนักชาตินิยมที่จะปฏิเสธหรืออ้างความชอบธรรมในอาชญากรรมสงคราม ทำให้เกิดข้อโต้เถียงเกี่ยวกับการสังหารหมู่ยังเป็นอุปสรรคในความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับชาติอื่นในเอเชียแปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

การประเมินยอดผู้เสียชีวิตในการสังหารหมู่อย่างแม่นยำนั้นทำไม่ได้ เพราะบันทึกทหารญี่ปุ่นเกี่ยวกับการสังหารจำนวนมากถูกทำลายหรือเก็บไว้เป็นความลับไม่นานหลังจากที่ญี่ปุ่นยอมจำนนในปี 1945 ศาลทหารพิเศษระหว่างประเทศภาคพื้นตะวันออกได้ประเมินว่า มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กว่า 200,000 คน ทางการจีนประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตราว 300,000 โดยอิงจากการประเมินของศาลชำนัญพิเศษอาชญากรรมสงครามนานกิง การประเมินจากนักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมีหลากหลายตั้งแต่ 40,000 ถึง 200,000 คน นักลัทธิแก้ประวัติศาสตร์บางคนปฏิเสธว่าไม่มีการสังหารหมู่เป็นระบบกว้างขวางเกิดขึ้นเลย โดยอ้างว่าการเสียชีวิตทั้งหมดมีคำธิบายทางทหาร เป็นอุบัติเหตุ หรือเป็นเหตุการณ์ความทารุณที่ไม่ได้รับอนุญาตที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะยอมรับการกระทำการฆ่าพลเรือนจำนวนมาก การฉกชิงทรัพย์และความรุนแรงอื่นๆ แต่ทว่าเสียงข้างน้อยกลับแย้งว่า ยอดผู้เสียชีวิตนั้นแท้จริงเป็นทหารและไม่มีอาชญากรรมเกิดขึ้น

วันนี้ในอดีต 13 ธันวาคม การรุกรานนานกิงของทหารญี่ปุ่น

การบุกนานกิงของญี่ปุ่น

กองทัพญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศที่ว่า นานกิงนั้นถูกขนาบด้วยแม่น้ำถึง 2 ด้าน ซึ่งเมืองนี้ตั้งอยู่ทางใต้ของโค้งแม่น้ำแยงซี ซึ่งเมื่อไหลมาจากทางเหนือแล้วก็เลี้ยวผ่านไปทางตะวันออก กองทัพญี่ปุ่นภายใต้การนำของพลเอก นาคาจิมา เคซาโกะ สามารถเดินทัพจากทางตะวันออกเฉียงใต้มาบรรจบกันที่ด้านหน้าของนานกิงในรูปครึ่งวงกลม โดยใช้แม่น้ำเป็นกำแพงธรรมชาติล้อมเมืองหลวงแห่งนี้ รวมทั้งสกัดการฝ่าหนีออกไป

ปลายเดือนพฤศจิกายน ทหารญี่ปุ่นสามกองทัพดาหน้าเข้าหานานกิง ทัพหนึ่งมุ่งตะวันตกทางฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำแยงซี ทหารกองนี้เข้ามาทางแม่น้ำไป๋เหมา ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเซี่ยงไฮ้ โดยเดินทัพมาทางรถไฟสายนานกิง-เซี่ยงไฮ้ ทัพที่สองเตรียมตัวบุกจู่โจมนานกิงทั้งทางน้ำและทางบกอยู่ที่ทะเลสาบอ้ายหู ทัพนี้เคลื่อนจากเซี่ยงไฮ้ลงมาทางตะวันตก และเดินทัพอยู่ทางทิศใต้ของทัพของนาคาจิมา โดยผู้นำทัพนี้คือ พลเอกมัตสึอิ อิวาเนะ และทัพที่สามภายใต้การนำของพลโทยานากาวา ไฮสุเขะ เดินห่างจากทัพของพลเอกมัตสึอิลงไปทางใต้และหักเลี้ยวเข้าหานานกิงจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ

ก่อนที่จะบุกถึงนานกิงนั้นทหารญี่ปุ่นได้เข้าโจมตีเมืองซูโจวและฆ่าทุกคนที่พบ การบุกเข้าเมืองซูโจวครั้งนี้ทำให้จำนวนประชากรลดลงจาก 350,000 คน และเหลือไม่ถึง 500 ชีวิต จนถึงรุ่งสางของวันที่ 13 ธันวาคม กองทัพญี่ปุ่นสามารถบุกผ่านประตูเมืองนานกิงเข้ามาได้

วันนี้ในอดีต 13 ธันวาคม การรุกรานนานกิงของทหารญี่ปุ่น

หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้านานกิงได้เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการเข้าปลดอาวุธทหารจีนที่ยอมแพ้และยอมตกเป็นเชลย โดยมีคำสั่งต่อทหารญี่ปุ่นว่าให้กำจัดคนจีนและเชลยทุกคนที่จับได้ จากที่ประชุมตกลงว่า จะทำการแบ่งเชลยออกเป็นจำนวนเท่าๆ กัน และจะถูกนำออกมาจากที่คุมขังเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 50 คน เพื่อนำไปประหาร ใช้ทหารกองร้อยที่ 1, 2 และ 5 โดยกองร้อยที่ 1 ใช้พื้นที่บริเวณนาข้าว และบริเวณพื้นที่ลุ่มทางตะวันตกเฉียงใต้ของกองร้อยที่ 2 และกองร้อยที่ 5 ใช้พื้นที่บริเวณนาข้าวทางตะวันออกเฉียงใต้ของที่ตั้งกอง คำสั่งนั้นเป็นไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเหี้ยมโหดโดยปราศจากเมตตา เพราะไม่สามารถหาอาหารให้เชลยทั้งหมดได้ โดยสามารถช่วยขจัดปัญหาเรื่องอาหารและลดการตอบโต้ได้

ญี่ปุ่นใช้วิธีการหลอกลวงเชลยเพื่อนำไปประหารหลายวิธีด้วยกัน เช่น ให้สัญญาว่าจะปฏิบัติอย่างดีหากไม่ต่อต้าน หลอกให้เข้ามอบตัว แบ่งผู้ชายออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละร้อยหรือสองร้อย แล้วหลอกไปยังจุดต่างๆ ที่นอกตัวเมืองเพื่อฆ่าทิ้ง

วันนี้ในอดีต 13 ธันวาคม การรุกรานนานกิงของทหารญี่ปุ่น

เขตปลอดภัยนานกิง

เขตปลอดทหารสำหรับพลเรือนจีนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 1937 โดย ยอน ราเบอ นักธุรกิจเยอรมันสมาชิกพรรคนาซี ร่วมกับโรเบิร์ต โอ วิลสัน แพทย์ชาวอเมริกันและชาวตะวันตกคนอื่นๆ ซึ่งได้ขอขอความร่วมมือจากนายกเทศมนตรีเมืองนานกิงให้อพยพชาวเมืองเข้าไปในเขตปลอดภัย เขตปลอดภัยมีหน้าที่ในการช่วยชีวิตของพลเรือนหลายพันคนของจีนให้รอดพ้นจากการถูกสังหารหมู่

หลังสงคราม

แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงไปแล้วด้วยความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่น แต่จากการกระทำสังหารหมู่ชาวจีนในนานกิงครั้งนั้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่นตกต่ำอย่างถาวรไม่อาจฟื้นฟูขึ้นมาได้เลย เพราะชาวจีนโกรธแค้นญี่ปุ่นเป็นอย่างมากจึงได้ทำการต่อต้านญี่ปุ่นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ปัจจุบันญี่ปุ่นจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและรักสันติสุขมากขึ้นก็ตาม แม้ว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหรือจักรพรรดิญี่ปุ่นมากล่าวขอโทษด้วยตนเองก็ไม่อาจทำให้ชาวจีนยกโทษให้ ในเนื้อหาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นยังถูกบิดเบือนด้วยการข้ามการกระทำอันโหดร้ายในนานกิงครั้งนั้นและบอกเพียงว่า เพียงแค่ยึดนานกิงเท่านั้น ทำให้ชาวจีนไม่พอใจและไม่ไว้ใจต่อญี่ปุ่นมาก

———————————————

ข้อมูลและภาพ Facebook : China Xinhua News และ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี