คำราชาศัพท์ ในหลวงรัชกาลที่ 10

ความรู้ การใช้คำราชาศัพท์ การใช้คำถวายพระพรชัยมงคล แด่ในหลวงรัชกาลที่ 10

Home / สาระความรู้ / ความรู้ การใช้คำราชาศัพท์ การใช้คำถวายพระพรชัยมงคล แด่ในหลวงรัชกาลที่ 10

ล่าสุด! เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ราชบัณฑิตยสภา ได้ทำการเผยแพร่ การใช้ถ้อยคำในการถวายชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) และการใช้คำราชาศัพท์คำว่า “ขออนุญาตให้”และ “ให้” แก่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การใช้คำถวายพระพรชัยมงคล แด่ในหลวงรัชกาลที่ 10

 การใช้คำถวายพระพรชัยมงคล แด่ในหลวงรัชกาลที่ 10

คำถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร คำว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” โดยหลังคำว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” ให้ระบุชื่อบุคคล คณะบุคคล และหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น

ข้าพระพุทธเจ้า นายจงรัก ภักดี

ข้าพระพุทธเจ้า คณะครูและนักเรียน โรงเรียน…

ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร และพนักงานบริษัท…

 การใช้คำถวายพระพรชัยมงคล แด่ในหลวงรัชกาลที่ 10

ราชาศัพท์ของคำว่า “ขออนุญาตให้” และ “ให้” แก่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ มีดังนี้

ราชาศัพท์ของคำว่า “ขออนุญาตให้” ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมรชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีดังนี้

“ขออนุญาตให้” สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น พระพรชัยมงคล, ชีวิต ใช้ว่า “ขอพระราชทานถวาย”

“ขออนุญาตให้” สิ่งของที่ยกได้ ใช้ว่า “ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย”

“ขออนุญาตให้” สิ่งขอใหญ่ หรือสิ่งของที่ยกขึ้นให้ไม่ได้ ใช้ว่า “ขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย”

ราชาศัพท์ของคำว่า “ขออนุญาตให้” ใช้แก่พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ใช้ว่า “ขอพระราชทานถวาย” และ ราชาศัพท์ของคำว่า “ขออนุญาตให้” ใช้แก่พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าจนถึงหม่อมเจ้า ใช้ว่า “ขอประทานถวาย” ซึ่งใช้ได้ทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งของที่ยกขึ้นให้ได้ หรือสิ่งของที่ยกขึ้นไม่ให้ได้

ทั้งนี้ ราชาศัพท์ของคำว่า “ขออนุญาตให้” ใช้ในข้อความที่บอกว่าจะ “ขออนุญาตให้” สิ่งใดๆ แด่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ มักจะปรากฏใช้คำกราบบังคมทูล กราบทูล หรือทูลในโอกาสต่างๆ เช่น คำกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลแด่พระมหากษัตริย์ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพทั้งที่เป็นลายลักษณ์และด้วยวาจา ดังตัวอย่างต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน”

ไม่ใช้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายพระพรชัยมงคล”

ไม่ใช้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระพรชัยมงคล”

ไม่ใช้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล”

ไม่ใช้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล”

การใช้ถ้อยคำในการถวายชัยมงคล

ราชาศัพท์ของคำว่า “ให้”  ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมรชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีดังนี้

“ให้” สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น พระพรชัยมงคล, ชีวิต ใช้ว่า “ถวาย”

“ให้” สิ่งของที่ยกได้ ใช้ว่า “ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย”

“ให้” สิ่งขอใหญ่ หรือสิ่งของที่ยกขึ้นให้ไม่ได้ ใช้ว่า “น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย”

ราชาศัพท์ของคำว่า “ให้”  ใช้แก่พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ลงมาจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ใช้ว่า “ถวาย” ซึ่งใช้ได้ทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งของที่ยกขึ้นให้ได้ หรือสิ่งของที่ยกขึ้นไม่ให้ได้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

———————————————

ข้อมูลจาก : Facebook ราชบัณฑิตยสภา